วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน


การเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยและแบบกองสูง เป็นการเพาะเห็ดที่เรียบง่าย เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อย เพราะไม่ต้องลงทุนมาก แต่เป็นวิธีที่ให้ผลผลิตไม่แน่นอนต้องอาศัยสภาพดินฟ้าอากาศไม่สามารถผลิตเห็ดให้มีคุณภาพสูงพอที่จะส่งออกเป็นอุตสาหกรรมได้ จึงได้มีการศึกษาวิธีเพาะเห็ดฟางให้ได้ผลผลิตสูง มีความสม่ำเสมอแน่นอนตามเวลาที่ต้องการ และสามารถผลิตเห็ดได้ตลอดปี สามารถทำเป็นการค้าโดยวิธีการเพาะเห็ดแบบโรงเรือน

การเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน เป็นการใช้ความรู้ทางด้านการเกษตรแผนใหม่เข้าช่วยในทุกขั้นตอนของการเจริญเติบโต จนกระทั่งเกิดดอกและเก็บเกี่ยว ผู้ที่จะเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน จึงควรจะผ่านการเพาะเห็ดแบบกองสูงหรือกองเตี้ยมาแล้ว เพื่อจะได้ทราบถึงความต้องการปัจจัยต่าง ๆ ในการเจริญเติบโตของเห็ดฟางทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มแรกจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิต ทั้งนี้เพราะการเพาะเห็ดฟางด้วยวิธีนี้ต้องลงทุนครั้งแรกสูงมากในด้านการก่อสร้างโรงเรือน เครื่องกำเนิดไอน้ำ และอุปกรณ์อื่น ๆ มีขั้นตอนในการเพาะเห็ดมากขึ้น โดยจะต้องหมักปุ๋ยที่จะใช้เพาะ, นำมาตีให้ละเอียด, ใส่ในโรงเรือน, เลี้ยงเชื้อรา, อบฆ่าเชื้อ, ปรับอุณภูมิความชื้นและแสง เป็นต้น หากปรับสภาพแวดล้อมไม่ถูกวิธีอาจทำให้เสียทั้งหมดได้
โรงเรือนที่ใช้เฉพาะและการจัดสร้าง

โรงเรือนที่จะใช้เพาะเห็ดฟางนั้น ควรคำนึงถึงความเป็นจริงที่มีการปฏิบัติกันอยู่แยกออกเป็น

1. โรงเรือนหลัก ควรเป็นโรงเรือนแบบถาวร หลังคาอาจมุงด้วยจากหรือหญ้าคาขนาดโรงเรือนควรสร้างให้มีขนาดเหมาะสมกับจำนวนของห้อง 1 โรงเรือน จะมีหลายห้องหรือห้องเดียวก็ได้ พื้นโรงเรือนถ้าเป็นพื้นดินก็ควรอัดให้แน่น หรือเป็นพื้นคอนกรีตก็จะดี เพื่อสะดวกต่อการทำความสะอาดโรงเรือนเพาะเห็ด ควรเป็นโรงเรือนที่ปิดมิดชิด สามารถอบไอน้ำฆ่าเชื้อเก็บอุณหภูมิและความชื้นได้ วัสดุที่ใช้อาจเป็นคอนกรีต อิฐบล๊อค กระเบื้องเรียบหรือใช้โครงไม้ไผ่บุกด้วยผ้าพลาสติกหนาให้สามารถเก็บรักษาความชื้นได้ ขนาดของโรงเรือนกว้าง ยาว สูง 5 X 8 X 3 เมตร หรือ 4 X 6 X 2.5-3 เมตร หลังคาทรงหน้าจั่วทำด้วยจาก บุด้วยผ้าพลาสติก พื้นโรงเรือนควรเป็นพื้นคอนกรีต มีประตูทางเข้าออกด้านละ 1 ประตู โรงเรือนเพาะนี้ต้องมีช่องสำหรับระบายอากาศอยู่บริเวณหน้าจั่วกว้างประมาณ 40 X 60เซนติเมตร และมีช่องสำหรับส่งไอน้ำผ่านเข้าไปในโรงเรือนได้ อย่างไรก็ดีรูปแบบและขนาดของโรงเรือนตลอดจนวัสดุที่ใช้อาจเปลี่ยนแปลงปรับปรุงได้ตามความรู้และเครื่องมือที่สร้างขึ้น

2. โรงเรือนรอง หรือชั้นวางเพาะเห็ด ควรมีขนาดกว้าง 1 เมตร โดยสร้างให้มีชายยื่นออกมาข้างละ 50 เซนติเมตร ยาว 4 เมตร และสูง 1.80 เมตร โดยแบ่งชั้นเพาะเห็ดออกเป็น 2 ข้าง ๆ ละ 4 ชั้น แต่ละชั้นห่างกัน 50 เซนติเมตร ชั้นแรกอยู่สูงจากพื้น 30 เซนติเมตร ชั้นที่ 4 สูงจากพื้น 1.80 เมตร ชั้นวางเพาะเห็ดนี้ควรทำด้วยเหล็กหรือไม้ไผ่ก็ได้

ผ้าพลาสติก ลักษณะคล้ายกับถุงเคลือบ เย็บและบุภายในโรงเรือนเพื่อควบคุมอุณหภูมิ
อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน

การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนเพื่อให้การดำเนินการประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ควรมีอุปกรณ์ที่สำคัญดังนี้

1. พัดลมดูดเป่าและระบายอากาศ เป็นพัดลมทรงกระบอกธรรมดา ขนาดใบพัด 16-20 เซนติเมตร แต่ดัดแปลงทำกล่องสังกะสีสวมปากทางลมออก โดยให้มีลมออกได้ 2 ทาง ทางหนึ่งต่อเข้าภายในโรงเรือน อีกทางหนึ่งออกภายนอก ทั้งสองจะมีลิ้นปิดเปิด ส่วนทางดูดลมก็เช่นเดียวกันคือทำทางดูด 2 ทาง ต่อเข้าภายในด้านหนึ่ง อีกข้างหนึ่งอยู่ข้างนอก และมีลิ้นปิดเปิดเช่นกัน สำหรับทางลมออกก็ต่อเข้าภายในโรงเรือนโดยต่อขึ้นไปข้างบนขนานกับสันจั่ว อาจทำด้วยท่อเอสล่อนหรือใช้ผ้าพลาสติกเย็บให้ได้เส้นผ่าศูนย์กลางพอสวมปากท่อได้ ตรงท่อที่ขนานจั่วนั้นต้องทำการเจาะรูขนาดเท่ามวนบุหรี่เพื่อให้อากาศออก
วัสดุที่ใช้เพาะและขั้นตอนการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน

ในการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน วัสดุเพาะนิยมใช้และได้ดีที่สุดก็คือ ขี้ฝ้าย (อาจผสมไส้นุ่นด้วยก็ได้) โดยใช้ฟางเป็นวัสดุรองเพาะ อย่างไรก็ดีเรายังสามารถใช้วัสดุอื่น ๆ เพาะได้เช่นกัน ซึ่งได้แก่ ไส้นุ่น เปลือกถั่วเขียว เปลือกถั่วเหลือง ผักตบชวาแห้ง ต้นกล้วยแห้ง ฟาง เศษหญ้าแห้ง ชานอ้อย และต้นข้าวโพดแห้ง เป็นต้น แต่วัสดุดังกล่าวนี้ยังไม่เป็นที่นิยม เพราะได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร

สำหรับขั้นตอนในการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนที่สำคัญก็มีดังนี้

1. การจัดโปรแกรมการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน

2. การหมักวัสดุที่ใช้เพาะ (การหมักขี้ฝ้าย, ไส้นุ่น)

3. การตีป่นขี้ฝ้ายและการเติมธาตุอาหารเสริม

4. การนำขี้ฝ้ายขึ้นชั้นเพาะเห็ด

5. การเลี้ยงเชื้อราอาหารเห็ด

6. การอบไอน้ำฆ่าเชื้อราและศัตรูเห็ด

7. การจัดเตรียมเชื้อเห็ดฟางและการโรยเชื้อเห็ดฟาง

8. การปรับอุณหภูมิและสภาพอากาศภายในโรงเรือน

9. การดูแลการพัฒนาของดอกเห็ดและการเก็บผลผลิต

10. การทำความสะอาดโรงเรือนเพื่อเตรียมการเพาะครั้งต่อไป
การอบไอน้ำฆ่าเชื้อราและศัตรูเห็ด

เมื่อนำวัสดุเพาะขึ้นใส่ชั้นเรียบร้อยและทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็ใส่น้ำลงในหม้อต้มไอน้ำในกรณีที่เราจะอบไอน้ำโรงเพาะเห็ด 2 ห้อง ให้ใส่น้ำประมาณ 3 ส่วน ใน 4 ส่วนของถัง และถ้าต้องการอบไอน้ำ 3 ห้อง ก็ให้ใส่น้ำ 3.5 ส่วนใน 4 ส่วนของถัง แล้วดำเนินการต้มน้ำให้เดือดจนกลายเป็นไอน้ำอย่างเต็มที่ จึงค่อยอัดไอน้ำเข้าสู่ห้องนั้น ๆ

สำหรับข้อควรระวังขณะที่ต้มน้ำ ไม่ควรปิดวาล์วให้แน่นจนสนิท ควรเปิดให้ไอน้ำสามารถระบายได้บ้าง ไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้ถังต้มน้ำเกิดระเบิดขึ้นได้

ในระหว่างการอัดไอน้ำเข้าห้อง จะต้องปิดห้องให้สนิททุกด้าน โดยเฉพาะด้านล่างที่ติดกับพื้นจะใช้ไม้ทับหรือจะใช้ทรายโรยทับก็ได้ แล้วต่อสายยางเข้าห้อง โดยผูกปลายท่อสายยางซึ่งเสียบด้วยไม้ไผ่เพื่อให้ขนาดรูพ่นเล็กลงเอาไว้กับเสาให้แน่น เพื่อไม่ให้สายยางสะบัดดิ้นไปดิ้นมาขณะพ่นน้ำ ที่ด้านในตรงประตูห้องก็ให้ติดตั้งเทอร์โมมิเตอร์เอาไว้เพื่อวัดอุณหภูมิ ครั้นเมื่อทำการต้มน้ำจนเดือดได้ที่แล้วก็ให้เปิดวาล์ว ปล่อยไอน้ำเข้าห้อง อุณหภูมิภายในห้องจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีขนาดอุณหภูมิสูง 60-72 องศาเซลเซียส ขึ้นไปแล้วจึงเริ่มจับเวลาให้ไอน้ำเข้าไปอีกนานประมาณ 2-3 ชั่วโมง จึงหยุดการพ่นไอน้ำ (ปิดทิ้งให้มีอุณหภูมิลดลงประมาณ 35 องศาเซลเซียส เพื่อที่จะได้ทำการโรยเชื้อเห็ดต่อไป) แล้วย้ายสายยางไปยังห้องอื่นถัดไปและทำการพ่นไอน้ำในลักษณะเช่นเดียวกัน

และจงจำไว้ การอบไอน้ำในเรือนเพาะให้มีอุณหภูมิสูงถึง 72 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมงติดต่อกัน จะฆ่าเชื้อราและเชื้อเห็ดขี้ม้า (ขี้วัว) ที่ปะปนมาได้ผลเป็นอย่างดี แต่ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 60 องศาเซลเซียสแล้ว แม้จะใช้เวลานานเท่าใดก็ตามก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อเห็ดขี้ม้า (ขี้วัว) ได้หมด ซึ่งจะเป็นปัญหาในการเพาะคือมีเห็ดขี้ม้า (ขี้วัว) เกิดขึ้น
การจัดเตรียมเชื้อเห็ดฟางและการโรยเชื้อเห็ดฟาง

ก่อนที่จะเริ่มเพาะเห็ดฟาง ผู้เพาะควรจะต้องทำความรู้จักกับเชื้อเห็ดฟางให้ดีเสียก่อนทั้งนี้เพราะ เชื้อเห็ดฟางมีบทบาทที่สำคัญมากที่สุดในกระบวนการเพาะเห็ดชนิดนี้

อาจกล่าวได้ว่าในการเพาะเห็ดฟางนอกเหนือจากเรื่องปัญหาเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างอื่นในการเพาะแล้ว ปัญหาเรื่องขี้เห็ดนี่เองที่เป็นเรื่องใหญ่โต เป็นเรื่องที่มีคำถามกันอย่างไม่สิ้นสุด ทั้งนี้เพราะนักเพาะเห็ดมือใหม่วิธีการหรือเทคนิคต่าง ๆ ในการเพาะนั้นเป็นเรื่องที่สามารถเรียนรู้กันได้ และสามารถที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่ปัญหาเรื่องเชื้อเห็ดนักเพาะเห็ดมือใหม่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจให้มาก ๆ

ปัจจุบันนี้แหล่งที่มีการจำหน่ายเชื้อเห็ดฟางมากและใหญ่ที่สุดยังอยู่บริเวณสามแยกเกษตรใกล้ ๆ กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจมีอยู่บ้างในต่างจังหวัดใหญ่ ๆ เช่น หาดใหญ่ เชียงใหม่ และขอนแก่น แต่มีไม่มากหรืออาจเป็นเชื้อเห็ดที่ส่งไปจากในกรุงเทพฯ ไม่ใช่เป็นเชื้อที่ผลิตในท้องที่นั้น ๆ โดยตรง ทั้งนี้เป็นเพราะการตั้งโรงงานผลิตเชื้อเห็ดฟางจะต้องมีต้นทุนสูงในการผลิตสูง ต้องมีตลาดขายเชื้อที่แน่นอนและมากพอ และที่สำคัญคือจะต้องหาซื้อวัตถุดิบหรือขี้ม้าสดได้ง่าย ขี้ม้าสดเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของเชื้อเห็ดฟาง คอกม้าในเมืองไทยมีไม่มากและไม่แพร่หลายมากนัก ทำให้ไม่สามารถกะงานโรงงานการผลิตเชื้อเห็ดไปต่างจังหวัดได้

เชื้อเห็ดฟางมีลักษณะคล้าย ๆ กับปุ๋ยหมัก ส่วนประกอบสำคัญ คือขี้ม้าสดผสมกับเปลือกเมล็ดบัวและไส้นุ่น บรรจุถุงพลาสติกเป็นถุงเดี่ยว ๆ บางยี่ห้อก็มีลักษณะเป็นรูปก้อนกลม เพราะมีการนึ่งด้วยกระป๋อง เวลาขายจึงเทออกมาใส่ถุง ๆ ละ 4 กระป๋อง หรือ 4 ก้อน อย่างไรก็ตามเชื้อเห็ดทั้ง 2 ชนิด คือทั้งที่บรรจุกระป๋องนึ่งและบรรจุถุงนึ่งมีคุณสมบัติที่ดีเหมือนกันทุกประการ

แม้ว่าในท้องตลาดจะมีเชื้อเห็ดฟางอยู่หลายยี่ห้อ มีตัวแทนจำหน่ายมากราย แต่มีแหล่งผลิตหรือโรงงานไม่กี่แห่งหรือแทบจะนับรายได้ เชื้อเห็ดฟางอาจมีหลายตราหลายยี่ห้อวางขายอยู่ตามร้านตัวแทนจำหน่ายทั่วไป แต่ส่วนใหญ่แล้วมาจากโรงงานเดียวกัน หรือจากโรงงานที่ผลิตจริง ๆ เพียงไม่กี่แห่งแต่ผู้จำหน่ายนำไปติดตราหรือยี่ห้อของตัวเองลงไปก่อนขายให้แก่ผู้ซื้อ ดังนั้นเวลาซื้อเชื้อเห็ดไปเพาะควรดูที่เชื้อหรือดูลักษณะของเชื้อมากกว่าดูที่ตราหรือยี่ห้อ การดูเชื้อเป็นจะทำให้ทราบว่าเป็นเชื้อที่เคยซื้อไปแล้วเพาะดอกดีหรือไม่ดี นอกเหนือจากจะต้องซื้อเชื้อจากร้านที่ไว้ใจได้
การซื้อเชื้อเห็ดฟางไปเพาะมีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน

วิธีแรก คือการเลือกซื้อด้วยตนเอง หากดูเชื้อเป็นสามารถทำให้ได้เชื้อดีไปเพาะ และสามารถเลือกร้านที่เชื้อมีคุณภาพได้ โอกาสที่เชื้อเสียมีน้อย

วิธีที่สอง คือการติดตั้งสั่งซื้อเชื้อทางไปรษณีย์ เป็นวิธีการที่ต่อเนื่องกับวิธีแรก คือเมื่อทราบที่ซื้อแล้วได้มีการตกลงที่จะสั่งซื้อทางไปรษณีย์ ส่วนใหญ่ผู้ซื้อจะต้องส่งเงินไปให้แก่ผู้ขายทางธนาณัติตามจำนวนเชื้อที่ต้องการ โดยทางผู้ซื้อจะต้องบวกค้าขนส่งลงไปในเชื้อแต่ละกระป๋องด้วย อาจบวกค่าขนส่งเพิ่มจากราคาเชื้อกระป๋องหรือถุงละ 1-2 บาท

เชื้อเห็ดฟางที่ดี จะต้องไม่อ่อนหรือแก่เกินไป สังเกตเชื้อได้จากลักษณะของเส้นใยกล่าวคืออายุของเชื้อฟางจากอ่อนถึงแก่มีอายุประมาณ 20 วัน เชื้อเห็ดฟางที่ยังอ่อน เส้นใยของเห็ดจะเริ่มลามจากด้านบนเชื้อลงมาด้านล่าง ถ้าเส้นใยเพิ่งลามลงไปได้ครึ่งถุงแสดงว่าเชื้อยังอ่อนอยู่ ถ้าลามไปถึงก้นถุงหรือก้นกระป๋องแสดงว่าเชื้อมีอายุพอดี

เชื้อเห็ดที่มีเส้นใยลามเต็มถุงไม่ควรเก็บไว้นานเกินไป เชื้อที่มีอายุมากหรือเส้นใยเจริญเต็มถุงแล้วต่อไป เส้นใยจะยุบมีสีเหลือง แสดงว่าเชื้อเริ่มแก่มาก แต่เชื้อที่เพิ่งเริ่มแค่เล็กน้อยแต่มีคุณภาพดีอยู่เส้นใยจะเริ่มรวมตัวทางด้านบนของปากถุง หรือชักใยเกาะฝากระป๋อง เล็กน้อย และเส้นใยจะรวมตัวกันสร้างสปอร์ชนิดหนึ่งซึ่งมองเห็นเป็นแผ่นเล็ก ๆ สีน้ำตาลแดงเรียกว่า คลามิโดสปอร์ หรือรวมกลุ่มกันเป็นจุดสีขาวในบางสายพันธุ์ แสดงว่าเป็นเชื้อที่ดีและไม่เป็นหมัน เชื้อที่เป็นหมันเพาะแล้วไม่เกิดดอกเส้นใยจะรวมตัวกันมากมายขาวฟูผิดปกติไม่ควรใช้เพาะ

นอกจากนี้เชื้อเห็ดฟางที่ดีจะต้องมีกลิ่นหอมแบบกลิ่นเห็ด เมื่อเทออกมาจากถุงเชื้อจะจับตัวรวมกันเป็นก้อนไม่ร่วงหรือแฉะและไม่มีน้ำหนักมากเกินไป นอกจากนี้จะต้องตรวจดูว่าภายในถุงต้องไม่มีตัวไรเล็ก ๆหรือมีราต่าง ๆ เช่น ราแดง ราเหลือง ราเขียว ขึ้นไปปะปนอยู่ ซึ่งแสดงว่าเชื้อไม่ดี

การโรยเชื้อเห็ดฟาง

หลังจากที่ได้อบไอน้ำและปล่อยทิ้งไว้จนวัสดุเพาะมีอุณหภูมิประมาณ 35 องศาเซลเซียส แล้วเราจะเริ่มโรยเชื้อเห็ดลงวัสดุเพาะ (ขี้ฝ้าย) ในแต่ละชั้น การเตรียมและโรยเชื้อเห็ดฟางนี้ก็ทำได้โดยแกะถุงเชื้อเห็ดฟางที่คัดเลือกแล้วว่ามีคุณภาพดีใส่ลงในกาละมังที่ล้างสะอาด และฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์เรียบร้อยแล้ว และควรล้างมือให้สะอาดก่อนจึงทำการขยี้เชื้อให้กระจายทั่วกันเพื่อสะดวกในการโรยเชื้อเห็ดฟางใน 1 ห้อง จะใช้เชื้อเห็ดฟาง 30-50 ถุง

เมื่อเตรียมเชื้อเห็ดฟางเรียบร้อยแล้วก็ให้นำมาโรยลงบนชั้นวัสดุเพาะ (ขี้ฝ้าย) ในห้องให้สม่ำเสมอและทั่วถึงกันทุกชั้น แล้วรีบปิดห้องทันที ลักษณะภายในห้องให้มีอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส (นานประมาณ 3 วัน) หลังจากนั้นประมาณ 6 ชั่วโมง ให้สังเกตดูว่ามีเส้นใยเห็ดเดินเป็นสีขาวบนวัสดุเพาะหรือยัง หรือโดยปกติแล้วเส้นใยเห็ดฟางจะเริ่มแตกตัวประมาณ 6-8 ชั่วโมง หลังจากโรยเชื้อ

ถ้าทิ้งไว้ประมาณ 15-16 ชั่วโมง เส้นใยเห็ดยังไม่เจริญเติบโตก็แสดงว่ามีปัญหาประการใดประการหนึ่งเกิดขึ้น ดังนี้

1. วัสดุเพาะยังมีก๊าซแอมโมเนียเหลืออยู่ จึงเป็นพิษต่อเส้นใยเห็ดทำให้เส้นใยเห็ดไม่เจริญ

2. ทำการโรยเชื้อเห็ดขณะที่วัสดุเพาะยังมีอุณหภูมิสูงอยู่มาก ทำให้เชื้อเห็ดเสื่อมลงหรือตาย

3. เชื้อเห็ดมีคุณภาพไม่ดี อาจเป็นหัวเชื้อไม่บริสุทธิ์

4. สภาพอุณหภูมิและอากาศภายในห้องไม่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ด

อย่างไรก็ดีปัญหาดังกล่าวนี้ ถ้าท่านปฏิบัติตามที่กล่าวข้างต้นแล้วก็เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
การปรับอุณหภูมิและสภาพอากาศภายในโรงเรือน

ในการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนนั้น หลังจากที่ได้โรยเชื้อเห็ดฟางใส่วัสดุเพาะเสร็จและปิดห้องพร้อมกับรักษาอุณหภูมิประมาณ 32-38 องศาเซลเซียส ทิ้งไว้ 2-3 วันแล้ว เชื้อเห็ดฟางจะเจริญเติบโตเป็นเส้นใยเห็ด มีสีขาวฟูเป็นปุย เจริญแผ่กระจายเต็มหน้าวัสดุเพาะ จากนั้นเส้นใยเห็ดจะสะสมอาหารเพื่อที่จะนำไปใช้ในการสร้างดอกเห็ด ในระหว่างวันที่ 3-4 เส้นใยเห็ดก็จะเริ่มยุบตัวลง เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีน้ำตาล และจับตัวกันเกิดเป็นดอกเห็ดเล็กๆ มีลักษณะเป็นเม็ดคล้ายผงซักฟอก ต่อจากนั้นก็จะเจริญพัฒนาเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์ต่อไป

ดังนั้น นับจากระยะวันที่ 3-4 นี้เป็นต้นไป เราจำเป็นต้องคอยปรับอุณหภูมิและอากาศภายในห้อง เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการในการเจริญพัฒนาเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์ดังนี้

1. เมื่อโรยเชื้อเห็ดฟางไว้ได้ประมาณ 3-4 วัน ก็ให้เปิดแง้มดูภายในห้อง ถ้าเส้นใยเห็ดยังมีลักษณะสีขาวอยู่ตามผิวหน้าขี้ฝ้ายเป็นจำนวนมาก แสดงว่าภายในห้องมีอุณหภูมิสูงเกินไปลักษณะเช่นนี้แม้เส้นใยยุบตัวเกิดเป็นดอกเห็ดเล็ก ๆ เต็มผิวหน้าขี้ฝ้ายก็ตาม แต่ดอกเห็ดเล็ก ๆ เหล่านี้ก็จะไม่พัฒนาเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์ได้ เพราะเส้นใยเห็ดไม่สามารถจะพักตัวและสะสมอาหารได้มากพอ ดังนั้นเพื่อช่วยให้เส้นใยได้ฟักตัวและสะสมอาหารได้อย่างเต็มที่ จึงควรเปิดช่องระบายอากาศให้อุณหภูมิภายในห้องลดลงพร้อมกับเป็นการถ่ายเทอากาศไปในตัวด้วย โดยควบคุมให้มีอุณหภูมิประมาณ 28-32 องศาเซลเซียส โดยเปิดช่องระบายอากาศทิ้งไว้

2. ถ้าแง้มดูพบว่าเส้นใยเห็ดเริ่มยุบตัวและมีดอกเห็กเล็ก ๆ เกิดขึ้นบ้างแล้ว ก็ให้ปรับอุณหภูมิภายในห้องให้อยู่ระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียสโดยเปิดช่องระบายอากาศทิ้งไว้

3. หลังจากเส้นใยเห็ดได้เริ่มยุบตัวลงแล้วประมาณ 1-2 วัน คือวันที่ 4-5 ก็ให้สังเกตดูว่าเม็ดเห็ดดอกเล็ก ๆ เกิดขึ้นทั่วผิวหน้าขี้ฝ้ายทุกชั้นหรือยัง ถ้ามีดอกเห็ดเล็ก ๆ เกิดขึ้นทั่วทุกชั้นดีแล้ว ก็ให้แง้มประตูให้อากาศภายในห้องมีการระบายถ่ายเทมากขึ้น โดยแง้มประตูให้กว้างประมาณ 20 เซนติเมตร ในระดับความสูงระหว่างชั้นล่างกับชั้นบน และควบคุมให้มีอุณหภูมิสูงประมาณ 28-32 องศาเซลเซียส

ในระยะนี้ถ้าสภาพอากาศและขี้ฝ้ายมีความชื้นน้อยลงไปมาก (ต่ำกว่า 80%) ก็ให้รดน้ำโดยใช้เครื่องพ่นฝอยฉีดพ่น แต่จะต้องระวังอย่าให้ละอองน้ำ จับกันเป็นหยดน้ำได้

4. ในช่วงวันที่ 6-7 ก็จะสังเกตเห็นว่าดอกเห็ดมีขนาดโตประมาณนิ้วแม่มือบ้างแล้ว ในระยะนี้ถ้าพบว่าบริเวณโคนดอกเห็ดมีปุยสีขาวฟูอยู่รอบ ๆ และผิวของดอกเห็ดเป็นขุยขรุขระคล้ายผิวหนังคางคกก็แสดงว่าอากาศภายในห้องไม่เพียงพอ มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่สูงมากเกินไป จะต้องเพิ่มการระบายอากาศภายในห้องให้มากขึ้นอีก โดยเปิดประตูเข้าให้กว้างออกไปอีก และรักษาอุณหภูมิให้อยู่ระดับ 30-32 องศาเซลเซียส

และถ้าต้องการให้ได้ดอกเห็ดที่มีขนาดโต น้ำหนักดี และดอกขาว ก็ให้ทำการอบไอน้ำในเวลากลางคืนในช่วงที่อุณหภูมิต่ำสุด คือระหว่าง 02.00-04.00 น. (ทั้งนี้ก็เพราะว่าในช่วงเวลาดังกล่าวที่มีอุณหภูมิต่ำ จะทำให้ดอกเห็ดชะงักการเจริญเติบโต) อบไอน้ำให้ได้อุณหภูมิสูงประมาณ 32-34 องศาเซลเซียส จะช่วยให้ดอกเห็ดเจริญพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ทำให้ได้ดอกเห็ดตรงตามต้องการ

ซึ่งในเรื่องนี้เกษตรกรผู้เพาะเห็ด จะต้องหมั่นคอยสังเกตพร้อมกับหาข้อสรุปที่ถูกต้องและควรจดบันทึกไว้เป็นข้อมูล เพื่อช่วยให้การดำเนินครั้งต่อ ๆ ไปสะดวกได้ผลดียิ่งขึ้น
การดูแลพัฒนาของดอกเห็ดและการเก็บผลผลิต

หลังจากเส้นใยเห็ดได้รวมตัวกันเป็นดอกเห็ดเล็ก ๆ แล้ว ดอกเห็ดดังกล่าวนี้จะพัฒนาเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์ได้หรือไม่ หรือจะช้าจะเร็วก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้

1. เชื้อเห็ด ถ้าเป็นเชื้อเห็ดที่ได้มาจากการต่อเชื้อมามากช่วงแล้ว ดอกเห็ดที่ได้จะมีขนาดเล็ก โตเร็ว บานเร็ว และมีเกิดเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ตัวเชื้อเห็ดนั้นเป็นสายพันธุ์เบาก็จะโตเร็วกว่าพันธุ์หนัก

2. การสะสมอาหารของเส้นใยเห็ด ถ้าหากวัสดุเพาะมีอาหารเห็ดไม่สมบูรณ์และการสะสมอาหารของเส้นใยเห็ดเพื่อใช้พัฒนาเป็นดอกเห็ดไม่พอเพียงแล้ว ถึงแม้ว่าจะเกิดเป็นดอกเห็ดขนาดเล็ก ๆ ขึ้นแล้วก็ตามก็ไม่สามารถพัฒนาเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์ได้

3.อากาศ ระยะการพัฒนาเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์นี้จะต้องการอากาศสูงมาก จึงควรเปิดช่องระบายอากาศ และประตูให้อากาศบริสุทธิ์เข้าไปบ้าง ถ้าหากอากาศไม่เพียงพอแล้วจะทำให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้นภายในห้องมากเกินไป ทำให้เนื้อเยื่อภายนอกดอกเห้ดเจริญเติบเป็นเส้นใยอีกครั้ง คือทำให้ดอกเห็ดเป็นปุยสีขาว หรือทำให้ผิวดอกเห็ดมีลักษณะคล้ายหนังคางคก หรือถ้าหากดอกเห็ดนั้นยังเล็กอยู่ก็จะทำให้ดอกเห็ดมีลักษณะผิดปกติไป เช่น มีรอยบุ๋มตรงกลาง ปลอกหุ้มดอกคลุมไม่หมด หรือไม่มีหมวกดอก เป็นต้น

4. อุณหภูมิ ที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียส ถ้าหากมีอุณหภูมิต่ำเกินไปจะทำให้ดอกเจริญเติบโตช้า แต่ดอกที่ได้นั้นจะมีขนาดโตและหนัก ตรงกันข้ามถ้าหากอุณหภูมิสูงจะทำให้ดอกเห็ดโตเร็ว ปลอกหุ้มบางและบานง่าย แต่ถ้าอุณหภูมิสูงมากเกินไปแล้วก็อาจทำให้ดอกเห็ดไม่เจริญเติบโตได้

5. แสง ระยะนี้ควรควบคุมแสงให้ผ่านเข้าไปเพียงเล็กน้อย เพื่อให้ดอกเห็ดมีสีซีดลงและค่อนข้างยาว ถ้าหากให้แสงผ่านเข้าไปมากแล้วจะทำให้สีของดอกเห็ดเปลี่ยนเป็นสีคล้ำมาก และไม่ได้เป็นที่นิยมของผู้บริโภค

ถ้าหากสภาพแวดล้อมเหมาะสมและมีการดูแลรักษาดีแล้ว หลังจากโรยเชื้อประมาณ 2-3 วัน เส้นใยก็จะเจริญเติบโตเต็มชั้นเพาะ ประมาณวันที่ 3-4 เส้นใยก็จะจับตัวกันเป็นดอกเห็ดเล็กๆ และประมาณวันที่ 6-7 ก็จะเริ่มเก็บดอกเห็ดได้

การเก็บดอกเห็ด ควรเก็บเมื่อดอกเห็ดฟางโตเต็มที่คือมีลักษณะเต่งตึง ปลอกหุ้มขยายตัวเต็มที่ในกรณีที่ดอกเห็ดมีลักษณะเป็นหัวอยู่ก็ควรรอไว้อีกวันหนึ่งหรือครึ่งวัน แต่เมื่อเห็ดมีลักษณะหัวยืดขึ้นแบบหัวพุ่ง ก็ต้องเก็บทันทีมิฉะนั้นดอกเห็ดจะบานออก ทำให้ขายไม่ได้ราคา วิธีการเก็บดอกเห็ดให้ใช้นิ้วหัวแม่มือกดดอกเห็ดแล้วหมุนเล็กน้อยยกขึ้นเบาๆ ดอกเห็ดก็จะหลุดออกมา หลังจากเก็บดอกเห็ดมาแล้วก็ให้ใช้มีดคมๆ ตัดโคนดอกที่มีเศษขี้ฝ้ายติดมาออกเสีย จากนั้นก็นำไปเก็บไว้ในที่เย็นๆ (อาจเป็นตู้เย็นก็ได้) เพราะถ้าเก็บไว้ในที่ร้อนอบอ้าวแล้ว จะทำให้ดอกเห็ดบานเร็วขึ้น

ในการเพาะครั้งหนึ่งๆ ผลผลิตที่ได้ควรอยู่ระหว่าง 50-60 กิโลกรัมต่อห้อง

จะเห็นได้ว่าการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับ การสังเกต การเอาใจใส่ ความขยัน ความอดทน ของเกษตรกรเอง และกล้าที่จะทดลองหาข้อมูลใหม่ๆ มาปรับปรุงวิธีการของตนเองให้ได้ผลดีอยู่เสมอ ประการที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องบันทึกข้อมูลต่างๆ เอาไว้เพื่อนำไปเปรียบเทียบปรับปรุงแก้ไขในการปฏิบัติการครั้งต่อไป
การทำความสะอาดโรงเรือนเพื่อเตรียมการเพาะครั้งต่อไป

หลังจากที่เก็บผลผลิตจนหมดแล้ว ก็ได้เอาขี้ฝ้ายและฟางออกไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ต่อไป เมื่อเอาขี้ฝ้ายและฟางออกจากชั้นเพาะจนหมดแล้ว ก็ทำการล้างชั้นเพาะและห้อง อาจล้างด้วยผงซักฟอกหรืออาจใช้น้ำยาคลอรอกซ์หรือน้ำยาฟอร์มาลีนด้วยก็ได้ แล้วล้างด้วยน้ำจนสะอาด ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งสนิทอย่างน้อย 2-3 วัน จึงทำการอบไอน้ำที่อุณหภูมิ 60-70 องศาเซลเซียส ขึ้นไป นานประมาณ 1-2 ชั่วโมง เพื่อฆ่าเซื้อราและศัตรูที่อาจหลงเหลืออยู่

จากนั้นจึงค่อยเริ่มดำเนินการเพาะต่อไป แต่ถ้าหากปล่อยโรงเรือนทิ้งไว้นานวันเกินไปแล้ว เมื่อทำการเพาะก็ให้อบไอน้ำเสียก่อน ที่อุณหภูมิประมาณ 60-70 องศาเซลเซียสขึ้นไป นานประมาณ 1-2 ชั่วโมง จึงค่อยใช้ทำการเพาะครั้งต่อไป
โรคแมลงและการป้องกันกำจัด

ถึงแม้ว่าการเพาะเห็ดฟางจะใช้ระยะเวลาสั้น แต่ก็มีศัตรูเห็ดหลายชนิดที่มักเกิดขึ้น คอยทำลายและรบกวนผลผลิตเห็ดที่ออกมา เช่น มด ปลวก แมลงสาบ หนู ไร และเชื้อราต่างๆ ซึ่งผู้เพาะเห็ดฟางควรที่จะได้ทราบและหาทางป้องกันรักษาดังนี้

1. มด, ปลวก, แมลงสาบ จะเข้าไปทำรังหรือเข้าไปทำลายเส้นใยเห็ดและกัดกินดอกเห็ดทำให้ผลผลิตตกต่ำ ดอกเห็ดไม่สมบูรณ์

วิธีการป้องกัน ใช้น้ำยาเอ็ฟต้าคลอร์หรือคลอเดนหยดใส่ตรงปากรูทางเข้ารังมดหรือปลวก (ภายนอกโรงเรือน) มดและปลวกจะตายหรือย้ายหนีไป หรือจะใช้ขี้เถ้าแกลบผสมผงซักฟอกโรยบนพื้นดินโดยโรยรอบนอกโรงเรือน

ไร มีขนาดเล็ก สีขาวเหลืองมีขนสีน้ำตาลยาวที่ส่วนหลังและขาสามารถเจริญและแพร่พันธุ์ได้ดีในบริเวณที่ชื้นๆ ทำลายโดยการกัดกินเส้นใยเห็ดฟางหรือดอกเห็ดที่มีขนาดเล็ก ก่อให้เกิดความเสียหายและเกิดความรำคาญ เวลาเข้าปฏิบัติงานในโรงเรือน

การป้องกัน 1. ทำความสะอาดโรงเรือนบ่อยๆ อย่าปล่อยให้มีวัสดุตกหล่นตามพื้น เมื่อเพาะเห็ดเสร็จแต่ละครั้งควรเก็บปุ๋ยหมักออกให้หมดและล้างโรงเรือนให้สะอาด

2. ใช้สารเคมีฆ่าไรที่ไม่มีพิษตกค้างฉีดพ่นก่อนเกิดดอกเห็ด เพื่อกันสารเคมีซึ่งอาจตกค้างในดอกเห็ดได้ แล้วโรยปูนขาวซ้ำอีกครั้งหนึ่ง จะป้องกันตัวไรและเชื้อราต่างๆ ได้

3. วัชเห็ด ที่พบเป็นคู่แข่งขันแย่งอาหารเห็ดฟางนั้นที่พบมาก ได้แก่ เห็ดหมึกหรือเห็ดขี้ม้าสาเหตุที่เกิดขึ้น เพราะภายในปุ๋ยหมักร้อนเกินไปหรือขั้นตอนผสมสูตรอาหารอาจใส่อาหารเสริมมากมายในโรงเรือนไม่มีการระบายอากาศ

4. เชื้อรา มีเชื้อราหลายชนิดที่เกิดขึ้นกับเห็ดฟาง มีทั้งเชื้อราที่ทำอันตราย เส้นใยและทำลายดอกเห็ด เช่นราเขียว ราขาว ราเมล็ดผักกาด เชื้อราเหล่านี้มีส่วนทำให้ผลผลิตไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร รวมทั้งระยะเวลาเก็บดอกเห็ดจะสั้นลงด้วย

ราเมล็ดผักกาดที่เกิด เชื้อราเกิดขึ้นบนฟางข้าวที่ใช้เพาะแล้วเจริญเติบโตเป็นเส้นใยแผ่ขยายเป็นหย่อม ๆ เส้นใยมีลักษณะหยาบ เส้นใยเหล่านี้จะทำลายเส้นใยของเห็ดฟางไม่ให้เจริญเติบโต กลุ่มของเชื้อรานี้จะกระจายบริเวณกองเห็ดเป็นจุด ๆ บริเวณหลังกองข้างกอง ถ้าเส้นใยของเชื้อรามีอายุมากขึ้นจะสร้างส่วนขยายพันธุ์เป็นเมล็ดเล็ก ๆ เมื่อยังอ่อนมีลักษณะสีขาวและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อเน่าจะเกิดเส้นใยรวมตัวอัดแน่น บางครั้งจะมีลักษณะเป็นชั้น ๆ หรือวงกลม ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าราเมล็ดผักกาดในดอกเห็ดบางดอกที่มีลักษณะแข็งแรง รอดพ้นจากการเข้าทำลายของเชื้อราในระยะที่เป็นตุ่มดอก แต่อาจถูกเส้นใยเชื้อราขึ้นเจริญขยายมาคลุมดอกเห็ดได้ ทำให้ดอกเห็ดมีลักษณะผิดปกติ ดอกเห็ดบางดอกลักษณะภายนอกดูปกติดี แต่เมื่อบีบดูจะรู้สึกว่าภายในนิ่มซึ่งเกิดจากการทำลายเชื้อรา

ราเขียว เป็นเชื้อราที่มีสีเขียวเข้มเห็นได้ชัด ตามปกติเชื้อราเขียวเป็นราในดินสปอร์ของเชื้อมีอยู่ทั้งในดินและปลิวอยู่ในอากาศ เชื้อราชอบความชื้นและถ้าอุณหภูมิเหมาะสมทำให้เชื้อราเจริญเติบโตขยายเข้าทำลายเห็ดฟาง เมื่อเชื้อยังอ่อนจะมีลักษณะเป็นสีขาว เมื่ออายุได้ 2 วัน จะมีสีเขียวอ่อนและเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม ราเขียวจะขึ้นแข่งขันกับเชื้อเห็ดฟาง แต่เจริญได้เร็วกว่าจึงทำให้เชื้อเห็ดฟาง บริเวณนั้น ๆ เกิดตุ่มดอกน้อยกว่าบริเวณอื่นที่ราเขียวไม่เกิด
ราขาวนวล เชื้อราชนิดนี้มีลักษณะสีขาวนาลหรือสีเหลืองอ่อน ๆ พบตั้งแต่วันแรกของการเพาะเห็ด เชื้อรานี้มักจะเกิดบนวัสดุเพาะและเจริญแผ่ขยายติดต่อกันเป็นปื้นใหญ่ ทำให้มองเห็นเป็นก้อน ๆ หรือเป็นแผ่น ๆ เชื้อราชนิดนี้เป็นเชื้อราที่เจริญเติบโตเร็ว ขึ้นแข่งกับเชื้อเห็ดฟาง แต่เจริญได้เร็วกว่าทำให้บริเวณที่มีเชื้อรานี้ไม่มีเชื้อเห็ดฟางขึ้นเลย นอกจากนี้ถ้ามีตุ่มดอกเกิดขึ้น เชื้อราชนิดนี้มักเจริญปกคลุมดอกเห็ดเล็ก ๆ หรือทำให้ดอกเห็ดกลุ่มนั้นมีลักษณะผิดปกติหรือดอกเห็ดไม่เจริญต่อไป ส่วนใหญ่จะพบเชื้อราชนิดนี้บนกองวัสดุเพาะเห็ดฟางเป็นครั้งแรก

ราขาวฟู เชื้อรานี้เส้นใยมีลักษณะขาวจัดและฟู มักพบบนหลังกองเพาะ พบตั้งแต่วันแรกหรือวันที่ 2 ของการเพาะเห็ด เมื่อราชนิดนี้อายุมากขึ้นจะมีสีเทา เชื้อรานี้เกิดเร็ว ถ้าเกิดแล้วไปปกคลุมดอกเห็ดทำให้ดอกเห็ดฝ่อ

ดังนั้น ถ้าเกิดมีเชื้อราเหล่านี้เกิดขึ้น ควรแยกออกจากกองเพาะและเผาทำลายเสียเพื่อป้องกันการระบาดของโรค
การป้องกันโรคเห็ดฟาง

ตั้งแต่เริ่มเพาะเห็ด จนถึงสิ้นสุดการเก็บผลผลิตของเห็ดฟางมีเพียง 15-20 วันเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลอันหนึ่งที่ไม่มีการใช้ยาเคมีเหมือนพืชผักชนิดอื่น ๆ ดังนั้นวิธีการสำคัญในการป้องกันโรคเห็ดฟาง คือวิธีการรักษาความสะอาดและการปฏิบัติดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอและการเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ข้อแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ในการเพาะเห็ดฟางเพื่อป้องกันให้เกิดโรคน้อยลง

1. เลือกหัวเชื้อจากแหล่งที่เชื้อถือได้ว่าเป็นพันธุ์ดีให้ผลผลิตสูง มีการปนเปื้อนน้อยที่สุด หรือไม่มี

2. เลือกตอซังหรือฟางข้าวนวดที่สะอาดปราศจากเชื้อราเมล็ดผักกาดฟางข้าวต้องมีลักษณะแห้งสนิทและอมน้ำได้ง่าย

3. เข้าใจถึงสภาพความต้องการต่าง ๆ ในการเจริญเติบโตของเห็ดฟาง เพื่อจะได้ปฏิบัติดูแลได้อย่างถูกต้อง เช่น เรื่องอุณหภูมิภายในห้อง ขณะที่เส้นใยเจริญเติบโตต้องการอุณหภูมิระหว่าง 34-36 องศาเซลเซียส ถ้าในห้องอากาศร้อนหรือเย็นเกินไปก็ควรระบายอากาศเพื่อให้เกิดการถ่ายเทออกซิเจน หรือให้ไอน้ำเพื่อเพิ่มอุณหภูมิ นอกจากนี้ยังมีเรื่องความชื้น แสงสว่าง และความสามารถในการกินอาหารของเห็ดฟางอีกด้วย

4. ระมัดระวังในเรื่องความสะอาดของโรงเรือนทั้งภายในและนอกโรงเรือน
ลักษณะอาการผิดปกติ
ภายในกองเพาะเห็ดและการเกิดดอกเห็ด

1. เพาะแล้วเห็ดไม่เจริญเลย เมื่อทำการเพาะเห็ดฟางแล้ว เส้นใยเห็ดอาจไม่เจริญเลย หากสภาพแวดล้อมอื่นๆ เป็นปกติ สาเหตุเกิดจากเชื้อเห็ดเสีย หมดอายุ หรือไม่แข็งแรง หากเชื้อเห็ดเป็นปกติดีโรงเรือนที่เพาะอาจมีเชื้อรารบกวนหรือมีสารเคมีบางอย่างตกค้างตามพื้นดิน หรือติดมากับฟางก่อนแล้ว หรืออาจเกิดจากน้ำที่ใช้ในการแช่ฟางและใช้รดกองเห็ดมีสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อเห็ดปะปนอยู่

2. เส้นใยเห็ดเจริญเติบโตได้น้อยมาก สาเหตุเกิดจากเชื้อเห็ดไม่บริสุทธิ์ เป็นเชื้อที่มีการต่อเชื้อมาหลายครั้ง ทำให้เชื้อมีคุณภาพต่ำ ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ การเพาะซ้ำหลาย ๆ ครั้งจะทำให้มีการสะสมของโรคและแมลงที่ทำลายเส้นใยเห็ดฟาง ควรทำความสะอาดโรงเรือน โดยใช้น้ำล้างให้สะอาดแล้วโรยปูนขาวฆ่าเชื้อตาม อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากการที่อุณหภูมิภายในโรงเรือนต่ำเกินไป เนื่องจากอากาศหนาวเย็น หรือใช้ฟางข้าวเก่าที่ถูกฝนเปียกแฉะมาก่อน ทำให้เส้นใยของเห็ดฟางชะงักการเจริญเติบโต จึงควรใช้ฟางแห้งที่ไม่เคยเปียกฝนทำการเพาะ หากอากาศหนาวควรให้ไอน้ำเพื่อเพิ่มอุณหภูมิ

3. เส้นใยเจริญแต่ไม่ออกดอก บางกรณีพบว่าเส้นใยเจริญอย่างสม่ำเสมอแต่ไม่เกิดดอกเห็ด สาเหตุเกิดจากวัสดุเพาะมีอาหารเห็ดไม่เพียงพอ กองเพาะแน่นและชื้นมากเกินไปทำให้เส้นใยไม่สามารถแทรกเข้าไปได้ ส่วนมากมักเกิดกับตอซังถอน จึงต้องใช้อาหารเสริมให้เพียงพอทุกครั้ง อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากชั้นเพาะเห็ดไม่ได้รับแสงหรืออุณหภูมิในโรงเรือนสูงเกินไป วิธีการแก้ไขให้ชั้นเห็ดได้รับแสงสว่างบ้างในช่วงวันที่ 5-6 ถ้าอุณหภูมิสูงมากเกินไปให้ใช้วิธีเปิดระบายอากาศ

4. เห็ดออกเป็นดอกเล็ก ๆ แต่ไม่โต เกิดขึ้นเสมอสำหหรับผู้เพาะเห็ดใหม่ ๆ ที่ใช้เชื้ออ่อน และใช้วัสดุเพาะที่อาหารไม่เพียงพอ เชื้อที่อ่อนเพราะผ่านการติดต่อเชื้อมาหลายครั้งทำให้ความแข็งแรงลดลง ควรใช้เชื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้มาทำการเพาะ วัสดุเพาะบางอย่างเช่นฟางข้าวนวดซึ่งมีอาหารไม่เพียงพอ หรือมีความชื้นน้อยไป เพราะดูดซับน้ำได้ไม่ดี หรือกดย่ำกองไม่แน่นพอก็ทำให้เห็ดฟางออกดอกเล็ก ๆ ได้ ดังนั้นการใช้วัสดุเพาะพวกนี้ควรแช่น้ำให้อิ่มตัวทุกครั้ง และกดกองให้แน่นพอ แต่สำหรับฟางข้าวหรือตอซังถอน หากแช่น้ำนานเกินไปและตอนเพาะกดกองแน่นอาจทำให้ฟางเน่า เชื้อเห็ดไม่สามารถเจริญเข้าไปได้ เช่นกัน ประกอบกับมีอากาศไม่เพียงพอจึงทำให้ฝ่อตายเสียก่อนที่จะโต ดังนั้นในการเพาะจึงควรเลือกใช้วัสดุเพาะที่เหมาะสมและแช่ฟางให้ถูกต้อง

5. เส้นใยเห็ดขึ้นฟูมากเกินไป มักจะพบในช่วงหลังการโรยเชื้อเห็ดแล้ว 5-6 วัน ขณะที่เส้นใยกำลังรวมตัวเป็นดอกเห็ดในขณะที่อากาศร้อนอบอ้าว ทำให้อุณหภูมิภายในโรงเรือนสูงเกินไป ควรแก้ไขโดยเปิดหน้าต่างระบายความร้อนออกบ้าง

6. ดอกเห็ดเน่ามีสีคล้ำและมีกลิ่นเหม็น ในการเพาะเห็ดฟางบางครั้งอาจมีเชื้อราหรือเชื้อบักเตรีเข้าทำลายเห็ด อาจเกิดจากชั้นเพาะชื้นมากเกินไป ทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี และอาจมีเชื้อราอื่นเข้าทำลาย วิธีแก้ไขควรมีการระบายอากาศและความชื้นข้างในออก

กรณีที่มีเห็ดเน่าและตายใน ชั้นเพาะ สาเหตุเนื่องจากเห็ดได้รับความกระทบกระเทือนจากการเก็บเกี่ยวเห็ด หรือมีการรดน้ำให้ขณะที่ดอกเห็ดยังเล็ก วิธีแก้ไขต้องระมัดระวังอย่าให้ดอกเห็ดที่อยู่ข้างเดียวได้รับความกระทบ กระเทือนและงดให้น้ำแก่เห็ดเหล่านี้อย่างเด็ดขาดในขณะที่ดอกเห็ดยังเล็ก นอกจากนี้จากโรงเรือนไม่สะอาดจึงทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการสะสมของราและ แมลงศัตรูเห็ด

7. ดอกเห็ดขึ้นเป็นหย่อม มักขึ้นรวมกันตามบริเวณส่วนหัวหรือท้ายกอง สาเหตุเกิดจากกองเพาะมีอาหาร และอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่บริเวณหัวและท้ายกองมากกว่าส่วนอื่น

8. ดอกเห็ดบานเร็ว กรณีดอกเห็ดบานเร็วเกินไปทั้งยังมีขนาดเล็กอยู่ สาเหตุเกิดจากอุณหภูมิสูงมาก เชื้อเห็ดอ่อนหรือใส่อาหารเสริมมากเกินไป

9. ดอกเห็ดมีสีคล้ำ มักเกิดจากสายพันธุ์ หรือดอกเห็ดถูกลมโกรกและถูกแสงแดดมาก วิธีแก้ไขขณะที่ดอกเห็ดเล็ก ๆ หรือในระหว่างเก็บเกี่ยวไม่ควรให้ถูกแสงแดดหรือลมโกรก

10. ดอกเห็ดมีน้ำหนักเบา สายพันธุ์เห็ดบางพันธุ์ เช่น พันธุ์สีขาวมีน้ำหนักเบากว่าพันธุ์สีดำและพันธุ์สีเทา หากเกิดพันธุ์สีดำหรือเทา สาเหตุมักเกิดจากความชื้นภายในกองเพาะไม่เพียงพอ หรือขณะที่เกิดดอกเห็ดมีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.doae.go.th/plant/ann/tbkh8.htm