วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประวัติโรงเรียน

     โรงเรียนบ้านขุนแม่ต้อบ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน  เขต 2  ตั้งอยู่หมู่ที่ 10  ตำบลบ้านกาศ  อำเภอแม่สะเรียง  จังหวัดแม่ฮ่องสอน
      ปีการศึกษา 2529  ก่อตั้งเมื่อวันที่ 10 เดือนพฤษภาคม 2529  บนเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่  โดยมีนายศฤงคาร  จันทร์ศิริ  ร่วมมือกับชาวบ้านสร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้นมา 1 หลัง กว้าง 4 เมตร ยาว 12 เมตร และเปิดทำการเรียนการสอน  เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2529 มี 1 ชั้นเรียน คือชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีนักเรียนทั้งสิ้น 14 คน ชาย 8 หญิง 6 คน  โดยมีนายศฤงคาร  จันทร์ศิริ
       ต่อมามีนายจรัญ  ศิลปะไพรวัลย์  มารักษาการณ์ในตำแหน่งครูใหญ่และทำการสอนต่อจากนายศฤงคาร  จันทร์ศิริ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2533
       ต่อมานายอักษร  พรรณโรจน์ย้ายมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ที่นี้เป็นคนแรกเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2533
       วันที่ 2 มิถุนายน 2536 นางอารี  บุญลือ  ย้ายมาดำรงตำแหน่ง  อาจารย์ 1 ระดับ 4 และทำหน้าที่เป็นครูผู้สอน
       วันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 นางสุวารี  ฉัตราธิกุล  ย้ายมาดำรงตำแหน่งครูผู้สอน
       วันที่ 17 มิถุนายน 2542 นายยุทธศาสตร์  อิ่มสำอางค์  ย้ายมาดำรงตำแหน่งครูผู้สอน
       วันที่ 16 พฤษภาคม 2543 นายเมธี  โมป้อ ย้ายมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทนนายอักษร  พรรณโรจน์
       วันที่ 1 มิถุนายน 2544 นางวราภรณ์  ส่าปร่ามู  ย้ายมาดำรงตำแหน่งครูผู้สอน
       วันที่ 1 เมษายน 2545 นางสาวนัยนา  ทองเสภี  ย้ายมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทนนายเมธี  โมป้อ
       วันที่ 1 เมษายน 2546 นายชนะวิน  แสงทามาตร ย้ายมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทนนางสาวนัยนา  ทองเสภี
       วันที่ 9 กรกฎาคม 2546 นายศรีนวล  เอกจันทร์ ย้ายมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทนนายชนะวิน  แสงทามาตร
       วันที่ 15 สิงหาคม 2548 นายศาสตรพงษ์  สุวรรณขีน  ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านขุนแม่ต้อบแทนนายศรีนวล  เอกจันทร์
       วันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 นางสาวกัลยา  กุลต๊ะคำ  มาเป็นครูพี่เลี้ยง  โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกาศ
       ปัจจุบัน  โรงเรียนบ้านขุนแม่ต้อบ  เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนทั้งหมด 27 คน ชาย 15 คน หญิง 12 คน มีบุคลากรทั้งหมด 3 คน ข้าราชการประจำ 2 คน ครูพี่เลี้ยง 1 คน ผู้บริหารสถานศึกษาคือ นายมงคล  อุทธิยา
       
       วิสัยทัศน์
            โรงเรียนบ้านขุนแม่ต้อบจะยกระดับนักเรียนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น  มีคุณธรรม  จริยธรรมและพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน ให้เหมาะสมกับวัย ดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขและชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
  
       พันธกิจ
             1.  พัฒนาระบบโครงสร้างการบริหารให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ
             2.  พัฒนานักเรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์
             3.  พัฒนาความรู้ความสามารถ  ทักษะ การคิดวิเคราะห์ของผู้เรียน
             4.  พัฒนาความรู้ความสามารถ  ทักษะ ทัศนคติและคุณธรรมจริยธรรมของครูและบุคลากร
             5.  สร้างและพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้ปกครอง  ชุมชนและองค์กรต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา

        เป้าประสงค์
             1.  นักเรียนร้อยละ 50 มีคุณภาพการศึกษาใกล้เคียงกับเด็กในเมือง
             2.  นักเรียนร้อยละ 50 สามารถฟัง  พูด อ่าน และเขียนภาษาไทยใกล้เคียงภาษาท้องถิ่น
             3.  นักเรียนร้อยละ 70 มีคุณธรรม จริยธรรม
             4.  นักเรียนร้อยละ 80 มีพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัย
             5.  ชุมชนร้อยละ 80 มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียน

        คำขวัญของโรงเรียน
             มีวินัย  ใฝ่คุณธรรม  นำการศึกษา  พัฒนาตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
       
        สีประจำโรงเรียน
             แดง - น้ำเงิน

        นโยบายของโรงเรียนบ้านขุนแม่ต้อบ
             1.  จัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตรสถานศึกษาโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
             2.  มีสื่อเพียงพอต่อความต้องการของโรงเรียน
             3.  ส่งเสริมกิจกรรมและโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อบุคลากรและนักเรียน
             4.  นักเรียนมีวินัย  มีคุณธรรม  จริยธรรม
             5.  จัดหางบประมาณให้เพียงพอต่อความต้องการของโรงเรียน
             6.  บริการอาหารกาลางวัน  และอาหารเสริมนมให้เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน

การเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน


การเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยและแบบกองสูง เป็นการเพาะเห็ดที่เรียบง่าย เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อย เพราะไม่ต้องลงทุนมาก แต่เป็นวิธีที่ให้ผลผลิตไม่แน่นอนต้องอาศัยสภาพดินฟ้าอากาศไม่สามารถผลิตเห็ดให้มีคุณภาพสูงพอที่จะส่งออกเป็นอุตสาหกรรมได้ จึงได้มีการศึกษาวิธีเพาะเห็ดฟางให้ได้ผลผลิตสูง มีความสม่ำเสมอแน่นอนตามเวลาที่ต้องการ และสามารถผลิตเห็ดได้ตลอดปี สามารถทำเป็นการค้าโดยวิธีการเพาะเห็ดแบบโรงเรือน

การเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน เป็นการใช้ความรู้ทางด้านการเกษตรแผนใหม่เข้าช่วยในทุกขั้นตอนของการเจริญเติบโต จนกระทั่งเกิดดอกและเก็บเกี่ยว ผู้ที่จะเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน จึงควรจะผ่านการเพาะเห็ดแบบกองสูงหรือกองเตี้ยมาแล้ว เพื่อจะได้ทราบถึงความต้องการปัจจัยต่าง ๆ ในการเจริญเติบโตของเห็ดฟางทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มแรกจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิต ทั้งนี้เพราะการเพาะเห็ดฟางด้วยวิธีนี้ต้องลงทุนครั้งแรกสูงมากในด้านการก่อสร้างโรงเรือน เครื่องกำเนิดไอน้ำ และอุปกรณ์อื่น ๆ มีขั้นตอนในการเพาะเห็ดมากขึ้น โดยจะต้องหมักปุ๋ยที่จะใช้เพาะ, นำมาตีให้ละเอียด, ใส่ในโรงเรือน, เลี้ยงเชื้อรา, อบฆ่าเชื้อ, ปรับอุณภูมิความชื้นและแสง เป็นต้น หากปรับสภาพแวดล้อมไม่ถูกวิธีอาจทำให้เสียทั้งหมดได้
โรงเรือนที่ใช้เฉพาะและการจัดสร้าง

โรงเรือนที่จะใช้เพาะเห็ดฟางนั้น ควรคำนึงถึงความเป็นจริงที่มีการปฏิบัติกันอยู่แยกออกเป็น

1. โรงเรือนหลัก ควรเป็นโรงเรือนแบบถาวร หลังคาอาจมุงด้วยจากหรือหญ้าคาขนาดโรงเรือนควรสร้างให้มีขนาดเหมาะสมกับจำนวนของห้อง 1 โรงเรือน จะมีหลายห้องหรือห้องเดียวก็ได้ พื้นโรงเรือนถ้าเป็นพื้นดินก็ควรอัดให้แน่น หรือเป็นพื้นคอนกรีตก็จะดี เพื่อสะดวกต่อการทำความสะอาดโรงเรือนเพาะเห็ด ควรเป็นโรงเรือนที่ปิดมิดชิด สามารถอบไอน้ำฆ่าเชื้อเก็บอุณหภูมิและความชื้นได้ วัสดุที่ใช้อาจเป็นคอนกรีต อิฐบล๊อค กระเบื้องเรียบหรือใช้โครงไม้ไผ่บุกด้วยผ้าพลาสติกหนาให้สามารถเก็บรักษาความชื้นได้ ขนาดของโรงเรือนกว้าง ยาว สูง 5 X 8 X 3 เมตร หรือ 4 X 6 X 2.5-3 เมตร หลังคาทรงหน้าจั่วทำด้วยจาก บุด้วยผ้าพลาสติก พื้นโรงเรือนควรเป็นพื้นคอนกรีต มีประตูทางเข้าออกด้านละ 1 ประตู โรงเรือนเพาะนี้ต้องมีช่องสำหรับระบายอากาศอยู่บริเวณหน้าจั่วกว้างประมาณ 40 X 60เซนติเมตร และมีช่องสำหรับส่งไอน้ำผ่านเข้าไปในโรงเรือนได้ อย่างไรก็ดีรูปแบบและขนาดของโรงเรือนตลอดจนวัสดุที่ใช้อาจเปลี่ยนแปลงปรับปรุงได้ตามความรู้และเครื่องมือที่สร้างขึ้น

2. โรงเรือนรอง หรือชั้นวางเพาะเห็ด ควรมีขนาดกว้าง 1 เมตร โดยสร้างให้มีชายยื่นออกมาข้างละ 50 เซนติเมตร ยาว 4 เมตร และสูง 1.80 เมตร โดยแบ่งชั้นเพาะเห็ดออกเป็น 2 ข้าง ๆ ละ 4 ชั้น แต่ละชั้นห่างกัน 50 เซนติเมตร ชั้นแรกอยู่สูงจากพื้น 30 เซนติเมตร ชั้นที่ 4 สูงจากพื้น 1.80 เมตร ชั้นวางเพาะเห็ดนี้ควรทำด้วยเหล็กหรือไม้ไผ่ก็ได้

ผ้าพลาสติก ลักษณะคล้ายกับถุงเคลือบ เย็บและบุภายในโรงเรือนเพื่อควบคุมอุณหภูมิ
อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน

การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนเพื่อให้การดำเนินการประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ควรมีอุปกรณ์ที่สำคัญดังนี้

1. พัดลมดูดเป่าและระบายอากาศ เป็นพัดลมทรงกระบอกธรรมดา ขนาดใบพัด 16-20 เซนติเมตร แต่ดัดแปลงทำกล่องสังกะสีสวมปากทางลมออก โดยให้มีลมออกได้ 2 ทาง ทางหนึ่งต่อเข้าภายในโรงเรือน อีกทางหนึ่งออกภายนอก ทั้งสองจะมีลิ้นปิดเปิด ส่วนทางดูดลมก็เช่นเดียวกันคือทำทางดูด 2 ทาง ต่อเข้าภายในด้านหนึ่ง อีกข้างหนึ่งอยู่ข้างนอก และมีลิ้นปิดเปิดเช่นกัน สำหรับทางลมออกก็ต่อเข้าภายในโรงเรือนโดยต่อขึ้นไปข้างบนขนานกับสันจั่ว อาจทำด้วยท่อเอสล่อนหรือใช้ผ้าพลาสติกเย็บให้ได้เส้นผ่าศูนย์กลางพอสวมปากท่อได้ ตรงท่อที่ขนานจั่วนั้นต้องทำการเจาะรูขนาดเท่ามวนบุหรี่เพื่อให้อากาศออก
วัสดุที่ใช้เพาะและขั้นตอนการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน

ในการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน วัสดุเพาะนิยมใช้และได้ดีที่สุดก็คือ ขี้ฝ้าย (อาจผสมไส้นุ่นด้วยก็ได้) โดยใช้ฟางเป็นวัสดุรองเพาะ อย่างไรก็ดีเรายังสามารถใช้วัสดุอื่น ๆ เพาะได้เช่นกัน ซึ่งได้แก่ ไส้นุ่น เปลือกถั่วเขียว เปลือกถั่วเหลือง ผักตบชวาแห้ง ต้นกล้วยแห้ง ฟาง เศษหญ้าแห้ง ชานอ้อย และต้นข้าวโพดแห้ง เป็นต้น แต่วัสดุดังกล่าวนี้ยังไม่เป็นที่นิยม เพราะได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร

สำหรับขั้นตอนในการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนที่สำคัญก็มีดังนี้

1. การจัดโปรแกรมการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน

2. การหมักวัสดุที่ใช้เพาะ (การหมักขี้ฝ้าย, ไส้นุ่น)

3. การตีป่นขี้ฝ้ายและการเติมธาตุอาหารเสริม

4. การนำขี้ฝ้ายขึ้นชั้นเพาะเห็ด

5. การเลี้ยงเชื้อราอาหารเห็ด

6. การอบไอน้ำฆ่าเชื้อราและศัตรูเห็ด

7. การจัดเตรียมเชื้อเห็ดฟางและการโรยเชื้อเห็ดฟาง

8. การปรับอุณหภูมิและสภาพอากาศภายในโรงเรือน

9. การดูแลการพัฒนาของดอกเห็ดและการเก็บผลผลิต

10. การทำความสะอาดโรงเรือนเพื่อเตรียมการเพาะครั้งต่อไป
การอบไอน้ำฆ่าเชื้อราและศัตรูเห็ด

เมื่อนำวัสดุเพาะขึ้นใส่ชั้นเรียบร้อยและทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็ใส่น้ำลงในหม้อต้มไอน้ำในกรณีที่เราจะอบไอน้ำโรงเพาะเห็ด 2 ห้อง ให้ใส่น้ำประมาณ 3 ส่วน ใน 4 ส่วนของถัง และถ้าต้องการอบไอน้ำ 3 ห้อง ก็ให้ใส่น้ำ 3.5 ส่วนใน 4 ส่วนของถัง แล้วดำเนินการต้มน้ำให้เดือดจนกลายเป็นไอน้ำอย่างเต็มที่ จึงค่อยอัดไอน้ำเข้าสู่ห้องนั้น ๆ

สำหรับข้อควรระวังขณะที่ต้มน้ำ ไม่ควรปิดวาล์วให้แน่นจนสนิท ควรเปิดให้ไอน้ำสามารถระบายได้บ้าง ไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้ถังต้มน้ำเกิดระเบิดขึ้นได้

ในระหว่างการอัดไอน้ำเข้าห้อง จะต้องปิดห้องให้สนิททุกด้าน โดยเฉพาะด้านล่างที่ติดกับพื้นจะใช้ไม้ทับหรือจะใช้ทรายโรยทับก็ได้ แล้วต่อสายยางเข้าห้อง โดยผูกปลายท่อสายยางซึ่งเสียบด้วยไม้ไผ่เพื่อให้ขนาดรูพ่นเล็กลงเอาไว้กับเสาให้แน่น เพื่อไม่ให้สายยางสะบัดดิ้นไปดิ้นมาขณะพ่นน้ำ ที่ด้านในตรงประตูห้องก็ให้ติดตั้งเทอร์โมมิเตอร์เอาไว้เพื่อวัดอุณหภูมิ ครั้นเมื่อทำการต้มน้ำจนเดือดได้ที่แล้วก็ให้เปิดวาล์ว ปล่อยไอน้ำเข้าห้อง อุณหภูมิภายในห้องจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีขนาดอุณหภูมิสูง 60-72 องศาเซลเซียส ขึ้นไปแล้วจึงเริ่มจับเวลาให้ไอน้ำเข้าไปอีกนานประมาณ 2-3 ชั่วโมง จึงหยุดการพ่นไอน้ำ (ปิดทิ้งให้มีอุณหภูมิลดลงประมาณ 35 องศาเซลเซียส เพื่อที่จะได้ทำการโรยเชื้อเห็ดต่อไป) แล้วย้ายสายยางไปยังห้องอื่นถัดไปและทำการพ่นไอน้ำในลักษณะเช่นเดียวกัน

และจงจำไว้ การอบไอน้ำในเรือนเพาะให้มีอุณหภูมิสูงถึง 72 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมงติดต่อกัน จะฆ่าเชื้อราและเชื้อเห็ดขี้ม้า (ขี้วัว) ที่ปะปนมาได้ผลเป็นอย่างดี แต่ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 60 องศาเซลเซียสแล้ว แม้จะใช้เวลานานเท่าใดก็ตามก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อเห็ดขี้ม้า (ขี้วัว) ได้หมด ซึ่งจะเป็นปัญหาในการเพาะคือมีเห็ดขี้ม้า (ขี้วัว) เกิดขึ้น
การจัดเตรียมเชื้อเห็ดฟางและการโรยเชื้อเห็ดฟาง

ก่อนที่จะเริ่มเพาะเห็ดฟาง ผู้เพาะควรจะต้องทำความรู้จักกับเชื้อเห็ดฟางให้ดีเสียก่อนทั้งนี้เพราะ เชื้อเห็ดฟางมีบทบาทที่สำคัญมากที่สุดในกระบวนการเพาะเห็ดชนิดนี้

อาจกล่าวได้ว่าในการเพาะเห็ดฟางนอกเหนือจากเรื่องปัญหาเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างอื่นในการเพาะแล้ว ปัญหาเรื่องขี้เห็ดนี่เองที่เป็นเรื่องใหญ่โต เป็นเรื่องที่มีคำถามกันอย่างไม่สิ้นสุด ทั้งนี้เพราะนักเพาะเห็ดมือใหม่วิธีการหรือเทคนิคต่าง ๆ ในการเพาะนั้นเป็นเรื่องที่สามารถเรียนรู้กันได้ และสามารถที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่ปัญหาเรื่องเชื้อเห็ดนักเพาะเห็ดมือใหม่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจให้มาก ๆ

ปัจจุบันนี้แหล่งที่มีการจำหน่ายเชื้อเห็ดฟางมากและใหญ่ที่สุดยังอยู่บริเวณสามแยกเกษตรใกล้ ๆ กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจมีอยู่บ้างในต่างจังหวัดใหญ่ ๆ เช่น หาดใหญ่ เชียงใหม่ และขอนแก่น แต่มีไม่มากหรืออาจเป็นเชื้อเห็ดที่ส่งไปจากในกรุงเทพฯ ไม่ใช่เป็นเชื้อที่ผลิตในท้องที่นั้น ๆ โดยตรง ทั้งนี้เป็นเพราะการตั้งโรงงานผลิตเชื้อเห็ดฟางจะต้องมีต้นทุนสูงในการผลิตสูง ต้องมีตลาดขายเชื้อที่แน่นอนและมากพอ และที่สำคัญคือจะต้องหาซื้อวัตถุดิบหรือขี้ม้าสดได้ง่าย ขี้ม้าสดเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของเชื้อเห็ดฟาง คอกม้าในเมืองไทยมีไม่มากและไม่แพร่หลายมากนัก ทำให้ไม่สามารถกะงานโรงงานการผลิตเชื้อเห็ดไปต่างจังหวัดได้

เชื้อเห็ดฟางมีลักษณะคล้าย ๆ กับปุ๋ยหมัก ส่วนประกอบสำคัญ คือขี้ม้าสดผสมกับเปลือกเมล็ดบัวและไส้นุ่น บรรจุถุงพลาสติกเป็นถุงเดี่ยว ๆ บางยี่ห้อก็มีลักษณะเป็นรูปก้อนกลม เพราะมีการนึ่งด้วยกระป๋อง เวลาขายจึงเทออกมาใส่ถุง ๆ ละ 4 กระป๋อง หรือ 4 ก้อน อย่างไรก็ตามเชื้อเห็ดทั้ง 2 ชนิด คือทั้งที่บรรจุกระป๋องนึ่งและบรรจุถุงนึ่งมีคุณสมบัติที่ดีเหมือนกันทุกประการ

แม้ว่าในท้องตลาดจะมีเชื้อเห็ดฟางอยู่หลายยี่ห้อ มีตัวแทนจำหน่ายมากราย แต่มีแหล่งผลิตหรือโรงงานไม่กี่แห่งหรือแทบจะนับรายได้ เชื้อเห็ดฟางอาจมีหลายตราหลายยี่ห้อวางขายอยู่ตามร้านตัวแทนจำหน่ายทั่วไป แต่ส่วนใหญ่แล้วมาจากโรงงานเดียวกัน หรือจากโรงงานที่ผลิตจริง ๆ เพียงไม่กี่แห่งแต่ผู้จำหน่ายนำไปติดตราหรือยี่ห้อของตัวเองลงไปก่อนขายให้แก่ผู้ซื้อ ดังนั้นเวลาซื้อเชื้อเห็ดไปเพาะควรดูที่เชื้อหรือดูลักษณะของเชื้อมากกว่าดูที่ตราหรือยี่ห้อ การดูเชื้อเป็นจะทำให้ทราบว่าเป็นเชื้อที่เคยซื้อไปแล้วเพาะดอกดีหรือไม่ดี นอกเหนือจากจะต้องซื้อเชื้อจากร้านที่ไว้ใจได้
การซื้อเชื้อเห็ดฟางไปเพาะมีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน

วิธีแรก คือการเลือกซื้อด้วยตนเอง หากดูเชื้อเป็นสามารถทำให้ได้เชื้อดีไปเพาะ และสามารถเลือกร้านที่เชื้อมีคุณภาพได้ โอกาสที่เชื้อเสียมีน้อย

วิธีที่สอง คือการติดตั้งสั่งซื้อเชื้อทางไปรษณีย์ เป็นวิธีการที่ต่อเนื่องกับวิธีแรก คือเมื่อทราบที่ซื้อแล้วได้มีการตกลงที่จะสั่งซื้อทางไปรษณีย์ ส่วนใหญ่ผู้ซื้อจะต้องส่งเงินไปให้แก่ผู้ขายทางธนาณัติตามจำนวนเชื้อที่ต้องการ โดยทางผู้ซื้อจะต้องบวกค้าขนส่งลงไปในเชื้อแต่ละกระป๋องด้วย อาจบวกค่าขนส่งเพิ่มจากราคาเชื้อกระป๋องหรือถุงละ 1-2 บาท

เชื้อเห็ดฟางที่ดี จะต้องไม่อ่อนหรือแก่เกินไป สังเกตเชื้อได้จากลักษณะของเส้นใยกล่าวคืออายุของเชื้อฟางจากอ่อนถึงแก่มีอายุประมาณ 20 วัน เชื้อเห็ดฟางที่ยังอ่อน เส้นใยของเห็ดจะเริ่มลามจากด้านบนเชื้อลงมาด้านล่าง ถ้าเส้นใยเพิ่งลามลงไปได้ครึ่งถุงแสดงว่าเชื้อยังอ่อนอยู่ ถ้าลามไปถึงก้นถุงหรือก้นกระป๋องแสดงว่าเชื้อมีอายุพอดี

เชื้อเห็ดที่มีเส้นใยลามเต็มถุงไม่ควรเก็บไว้นานเกินไป เชื้อที่มีอายุมากหรือเส้นใยเจริญเต็มถุงแล้วต่อไป เส้นใยจะยุบมีสีเหลือง แสดงว่าเชื้อเริ่มแก่มาก แต่เชื้อที่เพิ่งเริ่มแค่เล็กน้อยแต่มีคุณภาพดีอยู่เส้นใยจะเริ่มรวมตัวทางด้านบนของปากถุง หรือชักใยเกาะฝากระป๋อง เล็กน้อย และเส้นใยจะรวมตัวกันสร้างสปอร์ชนิดหนึ่งซึ่งมองเห็นเป็นแผ่นเล็ก ๆ สีน้ำตาลแดงเรียกว่า คลามิโดสปอร์ หรือรวมกลุ่มกันเป็นจุดสีขาวในบางสายพันธุ์ แสดงว่าเป็นเชื้อที่ดีและไม่เป็นหมัน เชื้อที่เป็นหมันเพาะแล้วไม่เกิดดอกเส้นใยจะรวมตัวกันมากมายขาวฟูผิดปกติไม่ควรใช้เพาะ

นอกจากนี้เชื้อเห็ดฟางที่ดีจะต้องมีกลิ่นหอมแบบกลิ่นเห็ด เมื่อเทออกมาจากถุงเชื้อจะจับตัวรวมกันเป็นก้อนไม่ร่วงหรือแฉะและไม่มีน้ำหนักมากเกินไป นอกจากนี้จะต้องตรวจดูว่าภายในถุงต้องไม่มีตัวไรเล็ก ๆหรือมีราต่าง ๆ เช่น ราแดง ราเหลือง ราเขียว ขึ้นไปปะปนอยู่ ซึ่งแสดงว่าเชื้อไม่ดี

การโรยเชื้อเห็ดฟาง

หลังจากที่ได้อบไอน้ำและปล่อยทิ้งไว้จนวัสดุเพาะมีอุณหภูมิประมาณ 35 องศาเซลเซียส แล้วเราจะเริ่มโรยเชื้อเห็ดลงวัสดุเพาะ (ขี้ฝ้าย) ในแต่ละชั้น การเตรียมและโรยเชื้อเห็ดฟางนี้ก็ทำได้โดยแกะถุงเชื้อเห็ดฟางที่คัดเลือกแล้วว่ามีคุณภาพดีใส่ลงในกาละมังที่ล้างสะอาด และฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์เรียบร้อยแล้ว และควรล้างมือให้สะอาดก่อนจึงทำการขยี้เชื้อให้กระจายทั่วกันเพื่อสะดวกในการโรยเชื้อเห็ดฟางใน 1 ห้อง จะใช้เชื้อเห็ดฟาง 30-50 ถุง

เมื่อเตรียมเชื้อเห็ดฟางเรียบร้อยแล้วก็ให้นำมาโรยลงบนชั้นวัสดุเพาะ (ขี้ฝ้าย) ในห้องให้สม่ำเสมอและทั่วถึงกันทุกชั้น แล้วรีบปิดห้องทันที ลักษณะภายในห้องให้มีอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส (นานประมาณ 3 วัน) หลังจากนั้นประมาณ 6 ชั่วโมง ให้สังเกตดูว่ามีเส้นใยเห็ดเดินเป็นสีขาวบนวัสดุเพาะหรือยัง หรือโดยปกติแล้วเส้นใยเห็ดฟางจะเริ่มแตกตัวประมาณ 6-8 ชั่วโมง หลังจากโรยเชื้อ

ถ้าทิ้งไว้ประมาณ 15-16 ชั่วโมง เส้นใยเห็ดยังไม่เจริญเติบโตก็แสดงว่ามีปัญหาประการใดประการหนึ่งเกิดขึ้น ดังนี้

1. วัสดุเพาะยังมีก๊าซแอมโมเนียเหลืออยู่ จึงเป็นพิษต่อเส้นใยเห็ดทำให้เส้นใยเห็ดไม่เจริญ

2. ทำการโรยเชื้อเห็ดขณะที่วัสดุเพาะยังมีอุณหภูมิสูงอยู่มาก ทำให้เชื้อเห็ดเสื่อมลงหรือตาย

3. เชื้อเห็ดมีคุณภาพไม่ดี อาจเป็นหัวเชื้อไม่บริสุทธิ์

4. สภาพอุณหภูมิและอากาศภายในห้องไม่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ด

อย่างไรก็ดีปัญหาดังกล่าวนี้ ถ้าท่านปฏิบัติตามที่กล่าวข้างต้นแล้วก็เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
การปรับอุณหภูมิและสภาพอากาศภายในโรงเรือน

ในการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนนั้น หลังจากที่ได้โรยเชื้อเห็ดฟางใส่วัสดุเพาะเสร็จและปิดห้องพร้อมกับรักษาอุณหภูมิประมาณ 32-38 องศาเซลเซียส ทิ้งไว้ 2-3 วันแล้ว เชื้อเห็ดฟางจะเจริญเติบโตเป็นเส้นใยเห็ด มีสีขาวฟูเป็นปุย เจริญแผ่กระจายเต็มหน้าวัสดุเพาะ จากนั้นเส้นใยเห็ดจะสะสมอาหารเพื่อที่จะนำไปใช้ในการสร้างดอกเห็ด ในระหว่างวันที่ 3-4 เส้นใยเห็ดก็จะเริ่มยุบตัวลง เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีน้ำตาล และจับตัวกันเกิดเป็นดอกเห็ดเล็กๆ มีลักษณะเป็นเม็ดคล้ายผงซักฟอก ต่อจากนั้นก็จะเจริญพัฒนาเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์ต่อไป

ดังนั้น นับจากระยะวันที่ 3-4 นี้เป็นต้นไป เราจำเป็นต้องคอยปรับอุณหภูมิและอากาศภายในห้อง เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการในการเจริญพัฒนาเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์ดังนี้

1. เมื่อโรยเชื้อเห็ดฟางไว้ได้ประมาณ 3-4 วัน ก็ให้เปิดแง้มดูภายในห้อง ถ้าเส้นใยเห็ดยังมีลักษณะสีขาวอยู่ตามผิวหน้าขี้ฝ้ายเป็นจำนวนมาก แสดงว่าภายในห้องมีอุณหภูมิสูงเกินไปลักษณะเช่นนี้แม้เส้นใยยุบตัวเกิดเป็นดอกเห็ดเล็ก ๆ เต็มผิวหน้าขี้ฝ้ายก็ตาม แต่ดอกเห็ดเล็ก ๆ เหล่านี้ก็จะไม่พัฒนาเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์ได้ เพราะเส้นใยเห็ดไม่สามารถจะพักตัวและสะสมอาหารได้มากพอ ดังนั้นเพื่อช่วยให้เส้นใยได้ฟักตัวและสะสมอาหารได้อย่างเต็มที่ จึงควรเปิดช่องระบายอากาศให้อุณหภูมิภายในห้องลดลงพร้อมกับเป็นการถ่ายเทอากาศไปในตัวด้วย โดยควบคุมให้มีอุณหภูมิประมาณ 28-32 องศาเซลเซียส โดยเปิดช่องระบายอากาศทิ้งไว้

2. ถ้าแง้มดูพบว่าเส้นใยเห็ดเริ่มยุบตัวและมีดอกเห็กเล็ก ๆ เกิดขึ้นบ้างแล้ว ก็ให้ปรับอุณหภูมิภายในห้องให้อยู่ระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียสโดยเปิดช่องระบายอากาศทิ้งไว้

3. หลังจากเส้นใยเห็ดได้เริ่มยุบตัวลงแล้วประมาณ 1-2 วัน คือวันที่ 4-5 ก็ให้สังเกตดูว่าเม็ดเห็ดดอกเล็ก ๆ เกิดขึ้นทั่วผิวหน้าขี้ฝ้ายทุกชั้นหรือยัง ถ้ามีดอกเห็ดเล็ก ๆ เกิดขึ้นทั่วทุกชั้นดีแล้ว ก็ให้แง้มประตูให้อากาศภายในห้องมีการระบายถ่ายเทมากขึ้น โดยแง้มประตูให้กว้างประมาณ 20 เซนติเมตร ในระดับความสูงระหว่างชั้นล่างกับชั้นบน และควบคุมให้มีอุณหภูมิสูงประมาณ 28-32 องศาเซลเซียส

ในระยะนี้ถ้าสภาพอากาศและขี้ฝ้ายมีความชื้นน้อยลงไปมาก (ต่ำกว่า 80%) ก็ให้รดน้ำโดยใช้เครื่องพ่นฝอยฉีดพ่น แต่จะต้องระวังอย่าให้ละอองน้ำ จับกันเป็นหยดน้ำได้

4. ในช่วงวันที่ 6-7 ก็จะสังเกตเห็นว่าดอกเห็ดมีขนาดโตประมาณนิ้วแม่มือบ้างแล้ว ในระยะนี้ถ้าพบว่าบริเวณโคนดอกเห็ดมีปุยสีขาวฟูอยู่รอบ ๆ และผิวของดอกเห็ดเป็นขุยขรุขระคล้ายผิวหนังคางคกก็แสดงว่าอากาศภายในห้องไม่เพียงพอ มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่สูงมากเกินไป จะต้องเพิ่มการระบายอากาศภายในห้องให้มากขึ้นอีก โดยเปิดประตูเข้าให้กว้างออกไปอีก และรักษาอุณหภูมิให้อยู่ระดับ 30-32 องศาเซลเซียส

และถ้าต้องการให้ได้ดอกเห็ดที่มีขนาดโต น้ำหนักดี และดอกขาว ก็ให้ทำการอบไอน้ำในเวลากลางคืนในช่วงที่อุณหภูมิต่ำสุด คือระหว่าง 02.00-04.00 น. (ทั้งนี้ก็เพราะว่าในช่วงเวลาดังกล่าวที่มีอุณหภูมิต่ำ จะทำให้ดอกเห็ดชะงักการเจริญเติบโต) อบไอน้ำให้ได้อุณหภูมิสูงประมาณ 32-34 องศาเซลเซียส จะช่วยให้ดอกเห็ดเจริญพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ทำให้ได้ดอกเห็ดตรงตามต้องการ

ซึ่งในเรื่องนี้เกษตรกรผู้เพาะเห็ด จะต้องหมั่นคอยสังเกตพร้อมกับหาข้อสรุปที่ถูกต้องและควรจดบันทึกไว้เป็นข้อมูล เพื่อช่วยให้การดำเนินครั้งต่อ ๆ ไปสะดวกได้ผลดียิ่งขึ้น
การดูแลพัฒนาของดอกเห็ดและการเก็บผลผลิต

หลังจากเส้นใยเห็ดได้รวมตัวกันเป็นดอกเห็ดเล็ก ๆ แล้ว ดอกเห็ดดังกล่าวนี้จะพัฒนาเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์ได้หรือไม่ หรือจะช้าจะเร็วก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้

1. เชื้อเห็ด ถ้าเป็นเชื้อเห็ดที่ได้มาจากการต่อเชื้อมามากช่วงแล้ว ดอกเห็ดที่ได้จะมีขนาดเล็ก โตเร็ว บานเร็ว และมีเกิดเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ตัวเชื้อเห็ดนั้นเป็นสายพันธุ์เบาก็จะโตเร็วกว่าพันธุ์หนัก

2. การสะสมอาหารของเส้นใยเห็ด ถ้าหากวัสดุเพาะมีอาหารเห็ดไม่สมบูรณ์และการสะสมอาหารของเส้นใยเห็ดเพื่อใช้พัฒนาเป็นดอกเห็ดไม่พอเพียงแล้ว ถึงแม้ว่าจะเกิดเป็นดอกเห็ดขนาดเล็ก ๆ ขึ้นแล้วก็ตามก็ไม่สามารถพัฒนาเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์ได้

3.อากาศ ระยะการพัฒนาเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์นี้จะต้องการอากาศสูงมาก จึงควรเปิดช่องระบายอากาศ และประตูให้อากาศบริสุทธิ์เข้าไปบ้าง ถ้าหากอากาศไม่เพียงพอแล้วจะทำให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้นภายในห้องมากเกินไป ทำให้เนื้อเยื่อภายนอกดอกเห้ดเจริญเติบเป็นเส้นใยอีกครั้ง คือทำให้ดอกเห็ดเป็นปุยสีขาว หรือทำให้ผิวดอกเห็ดมีลักษณะคล้ายหนังคางคก หรือถ้าหากดอกเห็ดนั้นยังเล็กอยู่ก็จะทำให้ดอกเห็ดมีลักษณะผิดปกติไป เช่น มีรอยบุ๋มตรงกลาง ปลอกหุ้มดอกคลุมไม่หมด หรือไม่มีหมวกดอก เป็นต้น

4. อุณหภูมิ ที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียส ถ้าหากมีอุณหภูมิต่ำเกินไปจะทำให้ดอกเจริญเติบโตช้า แต่ดอกที่ได้นั้นจะมีขนาดโตและหนัก ตรงกันข้ามถ้าหากอุณหภูมิสูงจะทำให้ดอกเห็ดโตเร็ว ปลอกหุ้มบางและบานง่าย แต่ถ้าอุณหภูมิสูงมากเกินไปแล้วก็อาจทำให้ดอกเห็ดไม่เจริญเติบโตได้

5. แสง ระยะนี้ควรควบคุมแสงให้ผ่านเข้าไปเพียงเล็กน้อย เพื่อให้ดอกเห็ดมีสีซีดลงและค่อนข้างยาว ถ้าหากให้แสงผ่านเข้าไปมากแล้วจะทำให้สีของดอกเห็ดเปลี่ยนเป็นสีคล้ำมาก และไม่ได้เป็นที่นิยมของผู้บริโภค

ถ้าหากสภาพแวดล้อมเหมาะสมและมีการดูแลรักษาดีแล้ว หลังจากโรยเชื้อประมาณ 2-3 วัน เส้นใยก็จะเจริญเติบโตเต็มชั้นเพาะ ประมาณวันที่ 3-4 เส้นใยก็จะจับตัวกันเป็นดอกเห็ดเล็กๆ และประมาณวันที่ 6-7 ก็จะเริ่มเก็บดอกเห็ดได้

การเก็บดอกเห็ด ควรเก็บเมื่อดอกเห็ดฟางโตเต็มที่คือมีลักษณะเต่งตึง ปลอกหุ้มขยายตัวเต็มที่ในกรณีที่ดอกเห็ดมีลักษณะเป็นหัวอยู่ก็ควรรอไว้อีกวันหนึ่งหรือครึ่งวัน แต่เมื่อเห็ดมีลักษณะหัวยืดขึ้นแบบหัวพุ่ง ก็ต้องเก็บทันทีมิฉะนั้นดอกเห็ดจะบานออก ทำให้ขายไม่ได้ราคา วิธีการเก็บดอกเห็ดให้ใช้นิ้วหัวแม่มือกดดอกเห็ดแล้วหมุนเล็กน้อยยกขึ้นเบาๆ ดอกเห็ดก็จะหลุดออกมา หลังจากเก็บดอกเห็ดมาแล้วก็ให้ใช้มีดคมๆ ตัดโคนดอกที่มีเศษขี้ฝ้ายติดมาออกเสีย จากนั้นก็นำไปเก็บไว้ในที่เย็นๆ (อาจเป็นตู้เย็นก็ได้) เพราะถ้าเก็บไว้ในที่ร้อนอบอ้าวแล้ว จะทำให้ดอกเห็ดบานเร็วขึ้น

ในการเพาะครั้งหนึ่งๆ ผลผลิตที่ได้ควรอยู่ระหว่าง 50-60 กิโลกรัมต่อห้อง

จะเห็นได้ว่าการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับ การสังเกต การเอาใจใส่ ความขยัน ความอดทน ของเกษตรกรเอง และกล้าที่จะทดลองหาข้อมูลใหม่ๆ มาปรับปรุงวิธีการของตนเองให้ได้ผลดีอยู่เสมอ ประการที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องบันทึกข้อมูลต่างๆ เอาไว้เพื่อนำไปเปรียบเทียบปรับปรุงแก้ไขในการปฏิบัติการครั้งต่อไป
การทำความสะอาดโรงเรือนเพื่อเตรียมการเพาะครั้งต่อไป

หลังจากที่เก็บผลผลิตจนหมดแล้ว ก็ได้เอาขี้ฝ้ายและฟางออกไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ต่อไป เมื่อเอาขี้ฝ้ายและฟางออกจากชั้นเพาะจนหมดแล้ว ก็ทำการล้างชั้นเพาะและห้อง อาจล้างด้วยผงซักฟอกหรืออาจใช้น้ำยาคลอรอกซ์หรือน้ำยาฟอร์มาลีนด้วยก็ได้ แล้วล้างด้วยน้ำจนสะอาด ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งสนิทอย่างน้อย 2-3 วัน จึงทำการอบไอน้ำที่อุณหภูมิ 60-70 องศาเซลเซียส ขึ้นไป นานประมาณ 1-2 ชั่วโมง เพื่อฆ่าเซื้อราและศัตรูที่อาจหลงเหลืออยู่

จากนั้นจึงค่อยเริ่มดำเนินการเพาะต่อไป แต่ถ้าหากปล่อยโรงเรือนทิ้งไว้นานวันเกินไปแล้ว เมื่อทำการเพาะก็ให้อบไอน้ำเสียก่อน ที่อุณหภูมิประมาณ 60-70 องศาเซลเซียสขึ้นไป นานประมาณ 1-2 ชั่วโมง จึงค่อยใช้ทำการเพาะครั้งต่อไป
โรคแมลงและการป้องกันกำจัด

ถึงแม้ว่าการเพาะเห็ดฟางจะใช้ระยะเวลาสั้น แต่ก็มีศัตรูเห็ดหลายชนิดที่มักเกิดขึ้น คอยทำลายและรบกวนผลผลิตเห็ดที่ออกมา เช่น มด ปลวก แมลงสาบ หนู ไร และเชื้อราต่างๆ ซึ่งผู้เพาะเห็ดฟางควรที่จะได้ทราบและหาทางป้องกันรักษาดังนี้

1. มด, ปลวก, แมลงสาบ จะเข้าไปทำรังหรือเข้าไปทำลายเส้นใยเห็ดและกัดกินดอกเห็ดทำให้ผลผลิตตกต่ำ ดอกเห็ดไม่สมบูรณ์

วิธีการป้องกัน ใช้น้ำยาเอ็ฟต้าคลอร์หรือคลอเดนหยดใส่ตรงปากรูทางเข้ารังมดหรือปลวก (ภายนอกโรงเรือน) มดและปลวกจะตายหรือย้ายหนีไป หรือจะใช้ขี้เถ้าแกลบผสมผงซักฟอกโรยบนพื้นดินโดยโรยรอบนอกโรงเรือน

ไร มีขนาดเล็ก สีขาวเหลืองมีขนสีน้ำตาลยาวที่ส่วนหลังและขาสามารถเจริญและแพร่พันธุ์ได้ดีในบริเวณที่ชื้นๆ ทำลายโดยการกัดกินเส้นใยเห็ดฟางหรือดอกเห็ดที่มีขนาดเล็ก ก่อให้เกิดความเสียหายและเกิดความรำคาญ เวลาเข้าปฏิบัติงานในโรงเรือน

การป้องกัน 1. ทำความสะอาดโรงเรือนบ่อยๆ อย่าปล่อยให้มีวัสดุตกหล่นตามพื้น เมื่อเพาะเห็ดเสร็จแต่ละครั้งควรเก็บปุ๋ยหมักออกให้หมดและล้างโรงเรือนให้สะอาด

2. ใช้สารเคมีฆ่าไรที่ไม่มีพิษตกค้างฉีดพ่นก่อนเกิดดอกเห็ด เพื่อกันสารเคมีซึ่งอาจตกค้างในดอกเห็ดได้ แล้วโรยปูนขาวซ้ำอีกครั้งหนึ่ง จะป้องกันตัวไรและเชื้อราต่างๆ ได้

3. วัชเห็ด ที่พบเป็นคู่แข่งขันแย่งอาหารเห็ดฟางนั้นที่พบมาก ได้แก่ เห็ดหมึกหรือเห็ดขี้ม้าสาเหตุที่เกิดขึ้น เพราะภายในปุ๋ยหมักร้อนเกินไปหรือขั้นตอนผสมสูตรอาหารอาจใส่อาหารเสริมมากมายในโรงเรือนไม่มีการระบายอากาศ

4. เชื้อรา มีเชื้อราหลายชนิดที่เกิดขึ้นกับเห็ดฟาง มีทั้งเชื้อราที่ทำอันตราย เส้นใยและทำลายดอกเห็ด เช่นราเขียว ราขาว ราเมล็ดผักกาด เชื้อราเหล่านี้มีส่วนทำให้ผลผลิตไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร รวมทั้งระยะเวลาเก็บดอกเห็ดจะสั้นลงด้วย

ราเมล็ดผักกาดที่เกิด เชื้อราเกิดขึ้นบนฟางข้าวที่ใช้เพาะแล้วเจริญเติบโตเป็นเส้นใยแผ่ขยายเป็นหย่อม ๆ เส้นใยมีลักษณะหยาบ เส้นใยเหล่านี้จะทำลายเส้นใยของเห็ดฟางไม่ให้เจริญเติบโต กลุ่มของเชื้อรานี้จะกระจายบริเวณกองเห็ดเป็นจุด ๆ บริเวณหลังกองข้างกอง ถ้าเส้นใยของเชื้อรามีอายุมากขึ้นจะสร้างส่วนขยายพันธุ์เป็นเมล็ดเล็ก ๆ เมื่อยังอ่อนมีลักษณะสีขาวและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อเน่าจะเกิดเส้นใยรวมตัวอัดแน่น บางครั้งจะมีลักษณะเป็นชั้น ๆ หรือวงกลม ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าราเมล็ดผักกาดในดอกเห็ดบางดอกที่มีลักษณะแข็งแรง รอดพ้นจากการเข้าทำลายของเชื้อราในระยะที่เป็นตุ่มดอก แต่อาจถูกเส้นใยเชื้อราขึ้นเจริญขยายมาคลุมดอกเห็ดได้ ทำให้ดอกเห็ดมีลักษณะผิดปกติ ดอกเห็ดบางดอกลักษณะภายนอกดูปกติดี แต่เมื่อบีบดูจะรู้สึกว่าภายในนิ่มซึ่งเกิดจากการทำลายเชื้อรา

ราเขียว เป็นเชื้อราที่มีสีเขียวเข้มเห็นได้ชัด ตามปกติเชื้อราเขียวเป็นราในดินสปอร์ของเชื้อมีอยู่ทั้งในดินและปลิวอยู่ในอากาศ เชื้อราชอบความชื้นและถ้าอุณหภูมิเหมาะสมทำให้เชื้อราเจริญเติบโตขยายเข้าทำลายเห็ดฟาง เมื่อเชื้อยังอ่อนจะมีลักษณะเป็นสีขาว เมื่ออายุได้ 2 วัน จะมีสีเขียวอ่อนและเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม ราเขียวจะขึ้นแข่งขันกับเชื้อเห็ดฟาง แต่เจริญได้เร็วกว่าจึงทำให้เชื้อเห็ดฟาง บริเวณนั้น ๆ เกิดตุ่มดอกน้อยกว่าบริเวณอื่นที่ราเขียวไม่เกิด
ราขาวนวล เชื้อราชนิดนี้มีลักษณะสีขาวนาลหรือสีเหลืองอ่อน ๆ พบตั้งแต่วันแรกของการเพาะเห็ด เชื้อรานี้มักจะเกิดบนวัสดุเพาะและเจริญแผ่ขยายติดต่อกันเป็นปื้นใหญ่ ทำให้มองเห็นเป็นก้อน ๆ หรือเป็นแผ่น ๆ เชื้อราชนิดนี้เป็นเชื้อราที่เจริญเติบโตเร็ว ขึ้นแข่งกับเชื้อเห็ดฟาง แต่เจริญได้เร็วกว่าทำให้บริเวณที่มีเชื้อรานี้ไม่มีเชื้อเห็ดฟางขึ้นเลย นอกจากนี้ถ้ามีตุ่มดอกเกิดขึ้น เชื้อราชนิดนี้มักเจริญปกคลุมดอกเห็ดเล็ก ๆ หรือทำให้ดอกเห็ดกลุ่มนั้นมีลักษณะผิดปกติหรือดอกเห็ดไม่เจริญต่อไป ส่วนใหญ่จะพบเชื้อราชนิดนี้บนกองวัสดุเพาะเห็ดฟางเป็นครั้งแรก

ราขาวฟู เชื้อรานี้เส้นใยมีลักษณะขาวจัดและฟู มักพบบนหลังกองเพาะ พบตั้งแต่วันแรกหรือวันที่ 2 ของการเพาะเห็ด เมื่อราชนิดนี้อายุมากขึ้นจะมีสีเทา เชื้อรานี้เกิดเร็ว ถ้าเกิดแล้วไปปกคลุมดอกเห็ดทำให้ดอกเห็ดฝ่อ

ดังนั้น ถ้าเกิดมีเชื้อราเหล่านี้เกิดขึ้น ควรแยกออกจากกองเพาะและเผาทำลายเสียเพื่อป้องกันการระบาดของโรค
การป้องกันโรคเห็ดฟาง

ตั้งแต่เริ่มเพาะเห็ด จนถึงสิ้นสุดการเก็บผลผลิตของเห็ดฟางมีเพียง 15-20 วันเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลอันหนึ่งที่ไม่มีการใช้ยาเคมีเหมือนพืชผักชนิดอื่น ๆ ดังนั้นวิธีการสำคัญในการป้องกันโรคเห็ดฟาง คือวิธีการรักษาความสะอาดและการปฏิบัติดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอและการเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ข้อแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ในการเพาะเห็ดฟางเพื่อป้องกันให้เกิดโรคน้อยลง

1. เลือกหัวเชื้อจากแหล่งที่เชื้อถือได้ว่าเป็นพันธุ์ดีให้ผลผลิตสูง มีการปนเปื้อนน้อยที่สุด หรือไม่มี

2. เลือกตอซังหรือฟางข้าวนวดที่สะอาดปราศจากเชื้อราเมล็ดผักกาดฟางข้าวต้องมีลักษณะแห้งสนิทและอมน้ำได้ง่าย

3. เข้าใจถึงสภาพความต้องการต่าง ๆ ในการเจริญเติบโตของเห็ดฟาง เพื่อจะได้ปฏิบัติดูแลได้อย่างถูกต้อง เช่น เรื่องอุณหภูมิภายในห้อง ขณะที่เส้นใยเจริญเติบโตต้องการอุณหภูมิระหว่าง 34-36 องศาเซลเซียส ถ้าในห้องอากาศร้อนหรือเย็นเกินไปก็ควรระบายอากาศเพื่อให้เกิดการถ่ายเทออกซิเจน หรือให้ไอน้ำเพื่อเพิ่มอุณหภูมิ นอกจากนี้ยังมีเรื่องความชื้น แสงสว่าง และความสามารถในการกินอาหารของเห็ดฟางอีกด้วย

4. ระมัดระวังในเรื่องความสะอาดของโรงเรือนทั้งภายในและนอกโรงเรือน
ลักษณะอาการผิดปกติ
ภายในกองเพาะเห็ดและการเกิดดอกเห็ด

1. เพาะแล้วเห็ดไม่เจริญเลย เมื่อทำการเพาะเห็ดฟางแล้ว เส้นใยเห็ดอาจไม่เจริญเลย หากสภาพแวดล้อมอื่นๆ เป็นปกติ สาเหตุเกิดจากเชื้อเห็ดเสีย หมดอายุ หรือไม่แข็งแรง หากเชื้อเห็ดเป็นปกติดีโรงเรือนที่เพาะอาจมีเชื้อรารบกวนหรือมีสารเคมีบางอย่างตกค้างตามพื้นดิน หรือติดมากับฟางก่อนแล้ว หรืออาจเกิดจากน้ำที่ใช้ในการแช่ฟางและใช้รดกองเห็ดมีสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อเห็ดปะปนอยู่

2. เส้นใยเห็ดเจริญเติบโตได้น้อยมาก สาเหตุเกิดจากเชื้อเห็ดไม่บริสุทธิ์ เป็นเชื้อที่มีการต่อเชื้อมาหลายครั้ง ทำให้เชื้อมีคุณภาพต่ำ ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ การเพาะซ้ำหลาย ๆ ครั้งจะทำให้มีการสะสมของโรคและแมลงที่ทำลายเส้นใยเห็ดฟาง ควรทำความสะอาดโรงเรือน โดยใช้น้ำล้างให้สะอาดแล้วโรยปูนขาวฆ่าเชื้อตาม อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากการที่อุณหภูมิภายในโรงเรือนต่ำเกินไป เนื่องจากอากาศหนาวเย็น หรือใช้ฟางข้าวเก่าที่ถูกฝนเปียกแฉะมาก่อน ทำให้เส้นใยของเห็ดฟางชะงักการเจริญเติบโต จึงควรใช้ฟางแห้งที่ไม่เคยเปียกฝนทำการเพาะ หากอากาศหนาวควรให้ไอน้ำเพื่อเพิ่มอุณหภูมิ

3. เส้นใยเจริญแต่ไม่ออกดอก บางกรณีพบว่าเส้นใยเจริญอย่างสม่ำเสมอแต่ไม่เกิดดอกเห็ด สาเหตุเกิดจากวัสดุเพาะมีอาหารเห็ดไม่เพียงพอ กองเพาะแน่นและชื้นมากเกินไปทำให้เส้นใยไม่สามารถแทรกเข้าไปได้ ส่วนมากมักเกิดกับตอซังถอน จึงต้องใช้อาหารเสริมให้เพียงพอทุกครั้ง อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากชั้นเพาะเห็ดไม่ได้รับแสงหรืออุณหภูมิในโรงเรือนสูงเกินไป วิธีการแก้ไขให้ชั้นเห็ดได้รับแสงสว่างบ้างในช่วงวันที่ 5-6 ถ้าอุณหภูมิสูงมากเกินไปให้ใช้วิธีเปิดระบายอากาศ

4. เห็ดออกเป็นดอกเล็ก ๆ แต่ไม่โต เกิดขึ้นเสมอสำหหรับผู้เพาะเห็ดใหม่ ๆ ที่ใช้เชื้ออ่อน และใช้วัสดุเพาะที่อาหารไม่เพียงพอ เชื้อที่อ่อนเพราะผ่านการติดต่อเชื้อมาหลายครั้งทำให้ความแข็งแรงลดลง ควรใช้เชื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้มาทำการเพาะ วัสดุเพาะบางอย่างเช่นฟางข้าวนวดซึ่งมีอาหารไม่เพียงพอ หรือมีความชื้นน้อยไป เพราะดูดซับน้ำได้ไม่ดี หรือกดย่ำกองไม่แน่นพอก็ทำให้เห็ดฟางออกดอกเล็ก ๆ ได้ ดังนั้นการใช้วัสดุเพาะพวกนี้ควรแช่น้ำให้อิ่มตัวทุกครั้ง และกดกองให้แน่นพอ แต่สำหรับฟางข้าวหรือตอซังถอน หากแช่น้ำนานเกินไปและตอนเพาะกดกองแน่นอาจทำให้ฟางเน่า เชื้อเห็ดไม่สามารถเจริญเข้าไปได้ เช่นกัน ประกอบกับมีอากาศไม่เพียงพอจึงทำให้ฝ่อตายเสียก่อนที่จะโต ดังนั้นในการเพาะจึงควรเลือกใช้วัสดุเพาะที่เหมาะสมและแช่ฟางให้ถูกต้อง

5. เส้นใยเห็ดขึ้นฟูมากเกินไป มักจะพบในช่วงหลังการโรยเชื้อเห็ดแล้ว 5-6 วัน ขณะที่เส้นใยกำลังรวมตัวเป็นดอกเห็ดในขณะที่อากาศร้อนอบอ้าว ทำให้อุณหภูมิภายในโรงเรือนสูงเกินไป ควรแก้ไขโดยเปิดหน้าต่างระบายความร้อนออกบ้าง

6. ดอกเห็ดเน่ามีสีคล้ำและมีกลิ่นเหม็น ในการเพาะเห็ดฟางบางครั้งอาจมีเชื้อราหรือเชื้อบักเตรีเข้าทำลายเห็ด อาจเกิดจากชั้นเพาะชื้นมากเกินไป ทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี และอาจมีเชื้อราอื่นเข้าทำลาย วิธีแก้ไขควรมีการระบายอากาศและความชื้นข้างในออก

กรณีที่มีเห็ดเน่าและตายใน ชั้นเพาะ สาเหตุเนื่องจากเห็ดได้รับความกระทบกระเทือนจากการเก็บเกี่ยวเห็ด หรือมีการรดน้ำให้ขณะที่ดอกเห็ดยังเล็ก วิธีแก้ไขต้องระมัดระวังอย่าให้ดอกเห็ดที่อยู่ข้างเดียวได้รับความกระทบ กระเทือนและงดให้น้ำแก่เห็ดเหล่านี้อย่างเด็ดขาดในขณะที่ดอกเห็ดยังเล็ก นอกจากนี้จากโรงเรือนไม่สะอาดจึงทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการสะสมของราและ แมลงศัตรูเห็ด

7. ดอกเห็ดขึ้นเป็นหย่อม มักขึ้นรวมกันตามบริเวณส่วนหัวหรือท้ายกอง สาเหตุเกิดจากกองเพาะมีอาหาร และอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่บริเวณหัวและท้ายกองมากกว่าส่วนอื่น

8. ดอกเห็ดบานเร็ว กรณีดอกเห็ดบานเร็วเกินไปทั้งยังมีขนาดเล็กอยู่ สาเหตุเกิดจากอุณหภูมิสูงมาก เชื้อเห็ดอ่อนหรือใส่อาหารเสริมมากเกินไป

9. ดอกเห็ดมีสีคล้ำ มักเกิดจากสายพันธุ์ หรือดอกเห็ดถูกลมโกรกและถูกแสงแดดมาก วิธีแก้ไขขณะที่ดอกเห็ดเล็ก ๆ หรือในระหว่างเก็บเกี่ยวไม่ควรให้ถูกแสงแดดหรือลมโกรก

10. ดอกเห็ดมีน้ำหนักเบา สายพันธุ์เห็ดบางพันธุ์ เช่น พันธุ์สีขาวมีน้ำหนักเบากว่าพันธุ์สีดำและพันธุ์สีเทา หากเกิดพันธุ์สีดำหรือเทา สาเหตุมักเกิดจากความชื้นภายในกองเพาะไม่เพียงพอ หรือขณะที่เกิดดอกเห็ดมีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.doae.go.th/plant/ann/tbkh8.htm

น้ำป่าไหลหลากท่วมอาคารเรียนโรงเรียนบ้านขุนแม่ต้อบ

อาคารเรียนได้รับความเสียหายอย่างหนัก พร้อมทั้งหนังสือเรียน โต๊ะ เก้าอี้ สื่อหรือวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน

นักเีรียนกำลังช่วยกันทำความสะอาดห้องเรียน
ผู้อำนวยการโรงเรียน ร่วมด้วยช่วยกันกับคณะครู นักเรียน และชาวบ้านในการทำความสะอาดโรงเรียน
ครูกัลยา กุณต๊ะคำ กำลังชี้ให้เห็นถึงความเสียหายจากน้ำป่าไหลหลากในครั้งนี้ ข้าวของเครื่องใช้อุปกรณ์การเรียน การสอน ได้รับความเสียหายทั้งหมด
โต๊ะ เก้าอี้ หนังสือเรียน ถูกขนออกมาพักไว้ข้างนอกอาคารเรียน บางส่วนสามารถนำมาใช้ได้อยู่แต่บางส่วนอย่างเช่น หนังสือเรียน สมุด สื่อวัสดุต่างๆ เสียหายและไม่สามารถนำกลับมาใช้่ได้แล้ว...

กิจกรรมวันแม่แห่งชาติ

02
03
04

ระดมกำลังพลพัฒนาโีรงเรียน

พี่ชายน้ำใจงามช่วยตัดหญ้าหน้าห้องพักครูอย่างขยันขันแข็ง...

ครูนิตยา สุดแดนดิน พร้อมนักเรียนร่วมแรงร่วมใจพัฒนาถนนทางเข้าโรงเรียน
เหนื่อยแล้วขอพักสักหน่อย!!!!!

ผู้อำนวยการโรงเรียนก็ไม่เบาเหมือนกัน